แพทย์ ม.อ. ให้ความรู้ เรื่องเท้าปุก เนื่องในวันเท้าปุกโลก ชี้ รักษาให้หายได้ ถ้ารีบพบแพทย์
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 ณ ลานอาคารรัตนชีวรักษ์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้จัดกิจกรรม “วันเท้าปุกโลก” เพื่อเป็นการรณรงค์และให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยภายในงาน มีการจัดกิจกรรมมากมาย ทั้งการบรรยายให้ความรู้ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด นอกจากนี้ยังมีการเล่าประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยเท้าปุกและการดูแล จากผู้ป่วยและญาติอีกด้วย
เวลาประมาณ 09.00 น. รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน วันเท้าปุกโลก ที่จัดขึ้น บริเวณ ชั้น 1 อาคารรัตนชีวรักษ์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งภายในงานมีทั้งผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคเท้าปุก ญาติ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วม โดยกิจกรรมเริ่มจากการเสวนาเรื่องเท้าปุก และประสบการณ์การรักษาโรคเท้าปุก โดยอาจารย์กันยิกา ชำนิประศาสน์ และอาจารย์บุญสิน ตั้งตระกูลวนิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคเท้าปุก จากภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธร์ปิดิกส์และกายภาพบำบัด ผู้ให้การช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยโรคเท้าปุกมาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองเล่าว่า โรคเท้าปุก เป็นความผิดรูปของกระดูกและข้อของเท้าที่พบบ่อยในเด็ก สาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด โดยเท้าผู้ป่วยเท้าปุกจะมีความผิดรูปที่ส้นเท้าและฝ่าเท้ามีลักษณะบิดเข้าด้านในคล้ายไม้ตีกอล์ฟ (ดังรูป) โดยถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา เท้าเด็กจะผิดรูปและเด็กจะเดินด้วยหลังเท้า ทำให้เกิดตาปลาและปวด มีปัญหาในการเดินและใส่รองเท้า
ต้องผ่าตัดหรือไม่
ผู้ป่วยเท้าปุกส่วนใหญ่ (ร้อยละ90) ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการรักษาแบบอนุรักษ์นิยม มีเพียงส่วนน้อยที่จำเป็นต้องผ่าตัดรักษาได้แก่ ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการดัดเท้าและใส่เฝือก หรือความผิดรูปกลับเป็นซ้ำ โดยส่วนใหญ่จะผ่าตัดเมื่ออายุมากกว่า 1 ขวบ พยากรณ์โรค
ควรเริ่มการรักษาเมื่อไหร่
ผู้ปกครองเด็กเท้าปุกควรพาเด็กมาตรวจรักษาโดยเร็วเพราะการดัดเท้าตั้งแต่แรกจะทำให้สามารถจัดกระดูกให้เข้าที่ได้ง่ายและประสบความสำเร็จสูง โดยเฉพาะถ้าได้รับการรักษาภายใน 1 เดือนหลังคลอด
แนวทางการรักษาในปัจจุบัน
แพทย์จะค่อยๆดัดเท้าและใส่เฝือกเหนือเข่าและเปลี่ยนเฝือกทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อยืดเอ็นและจัดกระดูกให้เข้าที่จำนวน 6-8 ครั้ง ก่อนทำการเจาะเอ็นร้อยหวายและใส่เฝือกซ้ำ เมื่อเท้าได้รูปที่ปกติ หรือใกล้เคียงปกติ จะเปลี่ยนเป็นใส่เครื่องพยุงพลาสติก เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำก่อนใส่รองเท้าเมื่อเด็กเดินได้