​ม.ทักษิณ พัฒนาพัทลุงโมเดล “กระจูดแก้จน” สร้างรายได้ กระจายโอกาส


18 เม.ย. 2565

ม.ทักษิณ พัฒนาพัทลุงโมเดล “กระจูดแก้จน”จาก Lenoi Craft Phattalung สู่การสร้างพลัง สร้างรายได้ กระจายโอกาส สู่ระดับประเทศ

มหาวิทยาลัยทักษิณได้มีการปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่และการแก้ไขปัญหาความยากจนที่เหมาะสม ด้วยรูปแบบการพัฒนา “พัทลุงโมเดล” ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งการพัฒนาโมเดลดังกล่าวภายใต้ชื่อโครงการ “กระจูดแก้จน”เปิดโอกาสให้คนจนเข้าสู่กระบวนการของโครงการด้วยการสมัครใจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาความรู้ คุณภาพชีวิต และสร้างรายได้เพิ่ม โดยมีศูนย์หัตถกรรมกระจูดวรรณีเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการบริการวิชาการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งได้นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แก้จน เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้แก่ชาวบ้านทะเลน้อย โดยการดึงวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง (กระจูดวรรณี) ผนวกกับองค์ความรู้ทางด้านศิลปกรรมการออกแบบของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยใช้วิธีการ Coaching เน้นการเพิ่มทุนมนุษย์จากกระจูด จัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมให้ความรู้เชิงทฤษฎีและลงมือปฏิบัติจริง ได้แก่ การพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบเชิงสร้างสรรค์ (Production) การยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบยั่งยืน (Design/ Branding) และการพัฒนาการตลาดในยุคดิจิทัล (Marketing/ Selling) เพิ่มทุนสังคม

ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนจน เป็นวิสาหกิจชุมชนเลน้อยคราฟ (Lenoi Craft Community Enterprise) เพิ่มทุนเศรษฐกิจ สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนเลน้อยคราฟ มีช่องทางการหารายได้ระหว่างทาง คือ สามารถนำกระเป๋ากระจูดที่สานที่บ้านมาฝึกทดลองขายผ่านออนไลน์หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอบรมปัจจุบันโครงการได้ขยับมาถึงช่วงของการนำความรู้ที่ผ่านการอบรมมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นและสวยงาม ทั้งการใช้สีธรรมชาติสำหรับกระบวนการย้อม การคิดค้นลวดลายใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เช่น ลายเกลียวคลื่น ลายดอกบัว ลายตัวขอพระราชทาน เป็นต้น การนำเสนอผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็เป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาโมเดล สร้างรายได้ และขยายโอกาสให้แก่ครัวเรือนคนจนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน


นายมนัทพงค์ เซ่งฮวด กลุ่มวิสาหกิจกระจูดวรรณี เปิดเผยว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยการสานกระจูดสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนชาวทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง โชคดีชาวบ้านกลุ่มเปราะบาง( lenoi craft ) ได้รับความรู้จากอาจารย์พลัฏฐ์ ยิ้มประเสริฐ สังกัดสาขาศิลปะการออกแบบ ม.ทักษิณ และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ได้เข้ามาร่วมกันคิดออกแบบ และพัฒนาส่งเสริมการผลิตกระจูดสร้างรายได้ให้แก่คนจนทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ภายใต้โครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) สนับสนุนทุนวิจัย ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยทักษิณ

วันที่ 12 เมษายน 2565 มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมจัดแสดงผลงานจาก Lenoi Craft Phattalungสู่การสร้างพลัง สร้างรายได้ กระจายโอกาส ณ ลานจัดแสดง Quartier Gallery ชั้น M ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) สุขุมวิท กรุงเทพฯ ซึ่งมีภาคีเครือข่ายความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยทักษิณ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณีพัทลุง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานจังหวัดพัทลุง และศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) สุขุมวิท กรุงเทพฯ ร่วมจัดงานในครั้งนี้เพื่อนำเสนอและเผยแพร่พัทลุงโมเดล ผ่านการจัดแสดงและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์เลน้อยคราฟที่มาจากครัวเรือนคนจนทะเลน้อย และเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้เพื่อเพิ่มรายได้และเปิดมุมมองใหม่เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างมากขึ้น ในโอกาสนี้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน

กิจกรรมภายในงานได้จัดเวทีเสวนา “จาก Lenoi Craft Phattalung สู่การสร้างพลัง สร้างรายได้ กระจายโอกาส” ร่วมกับหน่วยงานภาคีความร่วมมือและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระจูดจากโครงการฯที่มีหลากหลายรูปแบบ และมีอัตลักษณ์ ลวดลายที่โดดเด่นสวยงาม ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์กระจูดจาก Lenoi Craft Phattalung ได้ตั้งแต่วันนี้ - 19 เมษายน 2565 ภายในงาน Songkran Heritage ณ ชั้น M ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ