​นศ.เกษตร มรภ.สงขลา คว้ารางวัลชมเชยประกวดผลงานสหกิจด้านวิทยาศาสตร์ฯ ระดับเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง


20 เม.ย. 2565

นศ.เกษตร มรภ.สงขลา คว้ารางวัลชมเชยประกวดผลงานสหกิจด้านวิทยาศาสตร์ฯ ระดับเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง จากผลงาน “ลดปัญหาการปิดผนึกไม่สมบูรณ์ในไลน์ออโต้ซีล สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์”


มรภ.สงขลา สุดปลื้ม นักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร คว้ารางวัลชมเชยประกวดผลงานสหกิจด้านวิทยาศาสตร์ฯ ระดับเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง จากผลงาน “ลดปัญหาการปิดผนึกไม่สมบูรณ์ในไลน์ออโต้ซีล สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์” ชี้ช่วยลดจำนวนการสูญเสียของถุงได้ร้อยละ 0.5 และลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ได้กว่า 5 แสนบาท/ปี

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ส่งนักศึกษา นางสาวสาวิตรี แซ่อึ้ง และ นายนันทนัช โต๊ะสู หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการประกวดผลงานนักศึกษาสหกิจศึกษาบูรณาการกับการทำงาน ระดับเครือข่าย ประจำปี พ.ศ. 2565 ผ่านระบบออนไลน์ ZOOM Meeting จัดโดยเครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาภาคใต้ตอนล่าง ผลปรากฏว่านักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตรได้รับรางวัลชมเชยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากผลงานเรื่อง “ลดปัญหาการปิดผนึกไม่สมบูรณ์ในไลน์ออโต้ซีล สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์” บริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนลฟู๊ด จํากัด โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิติมา พานิชย์ และ อาจารย์สุเพ็ญ ด้วงทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

สำหรับความเป็นมาของการจัดทำผลงานสหกิจศึกษาเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องจากในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ของ บริษัท สยามอินเตอร์เนชั่ลแนลฟู้ด จำกัด มีการนำเครื่องออโต้ซีลมาใช้ในการบรรจุผลิตภัณฑ์ลงถุงเพาซ์ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการปฏิบัติงานและกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตาม กระบวนการบรรจุด้วยเครื่องออโต้ซีลยังประสบปัญหาในเรื่องของการปิดผนึกถุงที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของกระบวนการผลิต จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง พบว่า การปิดผนึกถุงไม่สมบูรณ์เป็นปัญหาหลักที่พบในกระบวนการผลิต โดยเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 70 ของปัญหาทั้งหมดที่พบเจอ

ปัญหาดังกล่าวถือเป็นจุดวิกฤตในกระบวนการผลิต ที่ทางโรงงานจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนั้น นางสาวสาวิตรี แซ่อึ้ง และ นายนันทนัช โต๊ะสู นักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา จึงได้นำปัญหาการปิดผนึกไม่สมบูรณ์ในไลน์ออโต้ซีลของบรรจุภัณฑ์ถุงเพาซ์สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ มาวิเคราะห์หาสาเหตุและดำเนินการแก้ไข จนนำมาสู่การจัดทำเป็นโครงงานสหกิจศึกษาในครั้งนี้

ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินโครงการ สามารถช่วยลดจำนวนการสูญเสียของถุงได้ 2,851 ถุง คิดเป็นร้อยละ 0.50 และช่วยลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ได้ถึง 547,392 บาท/ปี