​เด็กสวนศรีวิทยา” คว้าแชมป์พูดเล่าเรื่องภาษาไทยถิ่น ภาคใต้


27 เม.ย. 2565

วิมลณัฐ อรุณโชติ” จากโรงเรียนสวนศรีวิทยา คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดพูดเล่าเรื่องภาษาไทยถิ่นภาคใต้ ยอมรับสุดดีใจที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงศักยภาพ รองเลขาธิการบัณฑิตยสภาย้ำเป็นการจุดประกายให้เรามาร่วมเรียนรู้รักภาษาไทยท้องถิ่น

ดูคลิปการประกวดย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/kurplus1269/videos/821720...

วันที่ 23 เม.ย.65 ที่ห้องจุพา โรงแรมต้นอ้อยแกรนด์ จ.สงขลาสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดประกวดแข่งขันการพูดเล่าเรื่องภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่น ภาคใต้ ในหัวข้อ”ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม”ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น(ม.1-3) โดยมีนักเรียนเข้าร่วมจำนวน 7 คนที่ผ่านการคัดเลือกมาในรอบแรก ประกอบด้วย ด.ญ.กรกต แนมโส โรงเรียนแหลมราษฎร์บำรุง จ.นครศรีฯ ด.ช.ชนะสิทธิ์ เปลี่ยนผลัด โรงรียนภูเก็ตวิทยาลัย จ.ภูเก็ต ด.ญ.ชลิณีร์ นวลทอง โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี2 จ.สงขลา น.ส.ณัชนิชา พานิชกุล โรงเรียนบางแก้วพิทยาคม จ.พัทลุง ด.ญ.ณัฐธยาน์ อัคระเศรณี โรงเรียนประสาทนิกร จ.ชุมพร ด.ญ.วิมลณัฐ อรุณโชติ โรงเรียนสวนศรีวิทยา จ.ชุมพรและด.ญ.อาทิตยา เรืองจรัส โรงเรียนบ้านเขาพระ จ.สงขลา โดยผู้ที่คว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดครั้งนี้ได้แก่ ด.ญ.วิมลณัฐ อรุณโชติ โรงเรียนสวนศรีวิทยา จากการพูดในหัวข้อ”วัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน”

ส่วนรองชนะเลิศอันดับ1 ด.ญ.ชลิณีร์ นวลทอง โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี2 จากการพูดในหัวข้อ”จากการพูดในหัวข้อ”เขาคูหา ภูผามีตำนาน” และรองชนะเลิศอันดับ2 ด.ญ.กรกต แนมโส โรงเรียนแหลมราษฎร์บำรุง โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศอันดีบ1และ2 จะได้รับรางวัลบัณฑิตยสภาสรรเสริญ พร้อมทุนการศึกษาจำนวน 1.2 หมื่นบาท 1 หมื่นบาทและ 8 พันบาทตามลำดับ ส่วนรางวัลชมเชยจะได้เกียรติบัตร พร้อมทุนการศึกษา 3 พันบาท

นายศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา ในฐานะประธานจัดงานกล่าวภายหลังการมอบรางวัลแก่เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ว่ากิจกรรมวันนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเวลาเราพูดถึงการทำงานของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาโดยทั่วไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะนึกถึงเรื่องของภาษาไทย แต่ในความเป็นจริงภาษาไทยไม่ได้มีแค่ภาษาไทยกลาง ภาษาไทยมาตรฐานที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน แต่ในแต่ละท้องถิ่น แต่ละชุมชนความรุ่มรวยทางภาษาอย่างหนึ่งที่ภาษาไทยมีคือภาษาไทยท้องถิ่น ซึ่งทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเห็นว่าการอนุรักษ์ธำรงไว้และสืบสานต่อยอดภาษาถิ่นของเรานั้นเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่สะท้องถึงรากเหง้า เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงตัวตน เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงสิ่งที่เจริญงอกงามต่อไป จึงเป็นที่มาของการประกวดเล่าเรื่องท้องถิ่น ที่มา ภาษาและวัฒนธรรม เพราะเราต้องการให้ความสำคัญกับภาษาถิ่น และไม่ใช่เรื่องของภาษาถิ่นเท่านั้น แต่ยังได้เรื่องราวของวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย


“ผมไม่อยากให้การประกวดการแข่งขันมองแต่เรื่องรางวัล แต่สิ่งสำคัญที่อยากให้พวกเราติดตัวไปคือการที่เราได้เรียนรู้ ตระหนักรู้ เข้าใจ เข้าถึงภาษาถิ่น ซึ่งนั่นคือภาษาแม่ของเรา โดยที่ไม่ทิ้งภาษาไทยสำหรับการติดต่อสื่อสารในสังคมเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประเทศไทยเราด้วย กิจกรรมในวันนี้เป็นการจุดประกาย จุดประเด็นให้เรามาร่วมเรียนรู้รักภาษาไทยท้องถิ่น สื่อสารภาษาไทยท้องถิ่นและอาศัยภาษาไทยท้องถิ่นเหล่านี้ต่อยอดเป็นรากฐานในการเติบโตก้าวหน้าของเราต่อไปในอนาคต”รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภากล่าวย้ำ

ด.ญ.วิมลณัฐ อรุณโชติ โรงเรียนสวนศรีวิทยา เจ้าของรางวัลชนะเลิศจากการประกวดแข่งขันครั้งนี้เผยความรู้สึกหลังได้รับรางวัลชนะเลิศว่ารู้สึกตื่นเต้น เกินความคาดหมายมาก ตอนแรกไม่ได้คิดอะไรแค่อยากมาหาประสบการณ์ แต่พอรู้ว่าได้รางวลัชนะเลิศก็ดีใจมาก ๆ

“ตอนที่คุณครูเรียกมาให้เข้าประกวดก็ดีใจ แต่ก็รู้สึกกังวลเล็กน้อย เพราะเราก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร ส่วนหัวข้อที่พูดนั้นก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราได้เห็นได้สัมผัสมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก็ได้แรงบันดาลใจจากพ่อปู่กับแม่ย่าเพราะจะสื่อสารภาษาใต้กับสองคนนี้บ่อยมาก ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมาก เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมและรักษาภาษาใต้ให้อยู่ต่อไปและได้เปิดโอกาสให้เด็กแต่ละคนได้แสดงศักยภาพด้วยค่ะ”เจ้าของรางวัลชนะเลิศเผย

ขณะที่ ด.ญ.ชลิณีร์ นวลทอง โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี2 เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 กล่าวถึงรู้สึกว่าเกินความคาดหวังของหนู โดยเราได้ทำในสิ่งที่คิดว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิต เราได้ก้าวผ่านตรงนั้นมาแล้วทำให้หนูคิดว่าเราก็ทำได้เหมือนกัน ส่วนหัวข้อที่พูดนั้นคุณครูเป็นคนเลือกให้เพราะเขาคูหา เป็นชื่อเสียงของอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลาและโรงเรียนก็อยู่ใกล้เขาคูหา จึงอยากให้คนจังหวัดอื่น และคนในประเทศไทยได้รู้ว่าอำเภอรัตภุมิก็มีของดีที่ชื่อเขาคูหาด้วยเช่นกัน

ด้านนายสถานันท์ เนาวรัคน์ ครูที่ปรึกษาด.ญ.ชลิณีร์ นวลทอง โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี2 ผู้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ1กล่าวว่ารู้สึกภูมิใจในตัวเด็กเป็นอย่างมาก ผลผลิตที่คอยปลูกมาตลอด วันนี้ได้ผลิตออกดอก ออกผลแล้วและเหนือสิ่งอื่นใดที่ได้มาในวันนี้ก็คือการได้มาเผยแพร่ความรู้ความเป็นตัวตนของนักเรียนเองมาให้ทุกคนได้เห็นว่ารอบ ๆ โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี2 สงขลามีของดีอะไร และสิ่งสำคัญที่สุดในยุคนี้นักเรียนต้องรู้จักตัวตนของนักเรียนเองว่าเขามาจากไหน

“อย่างการเล่าในวันนี้ ผมได้ให้นักเรียนไปหาข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่ คนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นตาเนี่ยม นั่นคือปราชญชาวบ้าน หรือป้าวีแล้วมาผนวกกับข้อมูลเดิมที่มีอยู่ โดยให้นักเรียนเล่าเรื่องจากความรู้สึก อย่าจำแล้วนำมาเล่า เพราะถ้าจำถ้าเราลืมเราจะสดุดทันที ก็คือให้ทำความเข้าใจเรื่องก่อนแล้วเอามาเล่าให้คนอื่นฟังจะเข้าใจได้ง่ายกว่า”

นายสถานันท์ ยอมรับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมาก เป็นเวทีให้นักเรียนได้แสดงออก ทำให้นักเรียนได้เข้าใจท้องถิ่นได้ดีขึ้น ภาษาถิ่นเป็นภาษาที่แสดงถึงอัตลักษณ์ เอกลักษณิของท้องถิ่นก็อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าภาควิชาการเอง ภาคท้องถิ่นเองอยากให้มีการส่งเสริมอุดหนุนเพื่อจะให้สิ่งที่มีอยู่นี้ถูกพัฒนาถึงขีดสุด


อย่างไรก็ตามสำหรับการประกวดแข่งขันครั้งต่อไปจะเป็นภาษาถิ่นภาคเหนือ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซต์ เชียงใหม่ ส่วนภาคอีสาน จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์, และภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมกรุงศรี ริเวอร์ อยุธยา

ทั้งนี้การประกวดดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ1 และรองชนะเลิศอันดับ2 จะเข้ารับรางวัลในงานวันภาษาไทยแห่งชาติของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาต่อไป