สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา อบรมศาสตร์พระราชากับเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ น้อมสำนึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9


17 ส.ค. 2565

สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา จัดอบรมศาสตร์พระราชากับเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ น้อมสำนึกใพระมหากรุณาธิคุณด้านเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 เทียบเชิญวิทยากรให้ความรู้ พร้อมฝึกทำผลิตภัณฑ์จากศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

ดร.บรรจง ทองสร้าง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565 สำนักศิลปะและวัฒนธรรมจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการศาสตร์พระราชากับเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ในรูปแบบ Online ผ่าน Application Zoom Meeting ให้แก่นักศึกษาและบุคลากร มรภ.สงขลา จำนวน 50 คน เพื่อน้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อให้นักศึกษาสามารถศึกษาเรียนรู้ศาสตร์พระราชา นำมาปรับใช้ในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และมีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ สำหรับนำไปใช้ในวิถีชีวิตประจำวันได้ วิทยากรโดย ดร.กำธร เกิดทิพย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผศ.ดร.จรรย์สมร ผลบุญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิจัยและงานสร้างสรรค์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ อาจารย์กมลนาวิน อินทนูจิตร รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา

ดร.บรรจง กล่าวว่า สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริม สืบสานและสร้างสรรค์วัฒนธรรมท้องถิ่นและของชาติ และจากยุทธศาสตร์ของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ในด้านการส่งเสริมงานวิจัย สร้างสรรค์และบริการวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม เล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำศาสตร์พระราชาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการดำเนินชีวิตและสามารถประยุกต์หลักการศาสตร์พระราชากับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากศิลปวัฒนธรรมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ศาสตร์พระราชากับเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ขึ้นในครั้งนี้

อนึ่ง ศาสตร์พระราชาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการนำทาง ประกอบด้วยสามห่วง สองฐาน คือความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันในตน มีฐานความรู้และฐานคุณธรรม ซึ่งวิธีการของศาสตร์พระราชาคือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา โดยต้องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา คน วัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม การประยุกต์แห่งศาสตร์พระราชาต้องทำให้ด้วยความรัก ความปรารถนาและด้วยใจ ต้องประยุกต์ใช้อย่างยั่งยืน ไม่ยึดติดตำรา ปรับตามบุคคล ภูมิสังคม สภาพพื้นที่และสถานการณ์ ผลลัพธ์ของศาสตร์พระราชา คือแผ่นดินโดยธรรมและประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามตามพระปฐมบรมราชโองการ พออยู่พอกิน และ รู้รักสามัคคี อันเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน