​อาจารย์ มรภ.สงขลา ร่วมคณะทำงาน Upstream Process เมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก


13 มิ.ย. 2565

อาจารย์หลักสูตรสาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Upstream Process เมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก จับมือองค์กรพันธมิตรถ่ายทอดข้อมูลวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (วัดกลาง) แก่คณะผู้เชี่ยวชาญจาก ICOMOS Paris เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเป็นเมืองมรดกโลกของ UNESCO


ผศ.วสิน ทับวงษ์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เล่าถึงโครงการ Upstream Process เมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก ว่า จังหวัดสงขลามอบหมายให้ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม เป็นกรรมการและเลขานุการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฯ มีผู้เชี่ยวชาญในฐานะที่ปรึกษาจากอิโคโมส ปารีส (ICOMOS Paris) คือ ศ.ดร.โยฮันเนส วิโดโด้ (Prof. Dr.Johaness Widodo) ชาวอินโดนีเซีย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และ มร.ดันแคน มาร์แชล (Mr.Duncan Marshall) จากออสเตรเลีย เข้าประเมินศักยภาพเบื้องต้น ในระหว่างวันที่ 23-28 พฤษภาคม 2565 พื้นที่เมืองเก่าสงขลาและพื้นที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนและ ผศ.ดร.ศรุตม์ เพชรสกุลวงศ์ อาจารย์สาขาวิชาสังคม วัฒนธรรม และการพัฒนามนุษย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ รับหน้าที่นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (วัดกลาง) ที่ตั้งอยู่ในเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา ร่วมด้วยคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ อาทิ สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ช่วยสนับสนุนภารกิจดังกล่าว

ข้อมูลที่นำเสนอแก่ผู้เชี่ยวชาญฯ เป็นผลจากการประมวลงานวิชาการต่าง ๆ ที่สั่งสมมา ตลอดจนกรอบแนวคิด ทฤษฎีที่ถูกนำเสนอจากดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง ศิลปกรรมเนื่องในพุทธศาสนาในจังหวัดสงขลา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-25 สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร ของอาจารย์ ดร.เชน เพชรรัตน์ ชาวจังหวัดสงขลา ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ผนวกกับประสบการณ์จากการนำนักศึกษาในรายวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ประวัติศาสตร์ไทย สังคมไทยกับสภาวการณ์โลก พลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม ศึกษาเรียนรู้ภาคสนาม ณ วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (วัดกลาง) เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเสริมของการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาเหล่านั้น

ประกอบกับหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม ดำเนินการสนับสนุนพันธกิจของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (เพื่อการพัฒนาเมืองเก่าสงขลา) ระหว่าง 1. จังหวัดสงขลา 2. เทศบาลนครสงขลา 3. สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา 4. ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม 5. บริษัท สงขลา เฮอริเทจ จำกัด 6. แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 7. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กับ 8. มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นำโดยหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ลงนามเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 จึงนับเนื่องว่าหลักสูตรสาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม ได้สนองพันธกิจที่ มรภ.สงขลา ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ดังกล่าว ด้วยกำลังความสามารถและศักยภาพของบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการของพื้นที่

เมื่อได้รับมอบหมายภารกิจครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับเตรียมการสอนและการวางแผนกำหนดเนื้อหา รวมถึงมอบหมายผู้สอนในรายวิชาต่าง ๆ ของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม หลักสูตรใหม่ พุทธศักราช 2565 มรภ.สงขลา อาทิ วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมในประเทศไทย วิชาประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยใหม่ วิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อการสื่อสารสังคม วิชาการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา วิชาประวัติศาสตร์ภาคใต้ วิชาวัฒนธรรม ความเชื่อ เพื่อวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคม วิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิชาสงขลาศึกษาและการสื่อสารสังคมเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายเมืองสู่มรดกโลก วิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษากับการจัดการมรดกทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย วิชาประวัติศาสตร์เปรียบเทียบและปรากฏการณ์ทางสังคม วิชาการอนุรักษ์ทรัพยากรทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม วิชาประวัติศาสตร์พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย วิชาความเป็นไทยในสังคมนานาชาติ

กิจกรรมเสริมในรายวิชาเหล่านี้อาศัยจุดเด่นของเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง ที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย มีความปลอดภัยสูง สะดวกต่อการเดินทางของนักศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีศักยภาพหลากมิติอันทรงคุณค่าที่นักศึกษาจะได้นำความรู้จากชั้นเรียน ประยุกต์กับสถานที่จริง แล้วสร้างสรรค์ผลงานประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม

การเตรียมข้อมูลและเตรียมพร้อมสำหรับการบรรยายครั้งนี้ ถูกกำหนดขอบเขตเนื้อหาและจับเวลาเสมือนจริงใน 6 วัน ก่อนหน้าที่จะนำคณะผู้เชี่ยวชาญฯ เข้าชมสถานที่จริง ซึ่งตนในฐานะที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี โครงการที่ปรึกษาศึกษาออกแบบโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์คาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ได้นำคณะทำงานฝ่ายข้อมูลเข้าสักการะพระประธาน ชมประติมากรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรม พระอุโบสถ ควบคู่กับเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลตลอดจนมุมมองอันเป็นประโยชน์มาประยุกต์ใช้เพื่อการนำชมในภารกิจสำคัญครั้งนี้ ในวันอังคารที่ 25 พฤษภาคม 2565

นับเป็นการบริการวิชาการที่ก่อให้เกิดอรรถประโยชน์ ทั้งยังสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ Upstream Process เมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก ควบคู่กันไปกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรสาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มรภ.สงขลา อย่างแท้จริง

------------------------------------------------------------------

เรียบเรียงข้อมูล : หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม

เอื้อเฟื้อภาพประกอบ : อาจารย์เอื้อนจิตร สัมมา