ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรังร่วมกับ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เสวนา ยกระดับผลิตภัณฑ์เกษตรไทยฯ


19 พ.ย. 2565

วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2565) ที่ ศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และที่ปรึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดโครงการเสวนา “การยกระดับผลิตภัณฑ์เกษตรไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และการเข้าสู่ตลาดค้าปลีกระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติ”

จัดโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ร่วมกับบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชุมชน จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (ร่วมเสวนาผ่าน Zoom ฉายจอ) นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.นิพัฒน์ โพธิ์วิจิตร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

นอกจากนั้นภายในงานยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) จำนวน 11 ตำบล 25 ผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมการประกวดแข่งขันหาผลิตภัณฑ์ดีเด่นของ U2T for BCG ในความรับผิดชอบของคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดการค้าระดับประเทศ

โดยได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดตรัง และกิจกรรมชม ชิม โชว์ ผลิตภัณฑ์จากบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) โครงการเสวนา “การยกระดับผลิตภัณฑ์เกษตรไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และการเข้าสู่ตลาดค้าปลีกระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติ” ดำเนินการภายใต้รูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชุมชนในการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการให้มีแนวทางและแผนในการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ และเสริมสร้างศักยภาพในด้านการตลาด การเข้าถึงช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่

คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายพัฒนากิจการควบคู่กับการส่งเสริมเกษตรกรไทย ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ เน้นการดำเนินการเชิงรุก ผ่านความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ กรมส่งเสริมการเกษตร) และได้เชื่อมโยงเกษตรกร คือต้นน้ำ ไปยังลูกค้าคือปลายน้ำ ทั้งเพิ่มการเข้าถึงเกษตรกรแต่ละชุมชน ด้วยการมีศูนย์รับซื้อและกระจายสินค้าเกษตรรายภูมิภาค มีโรงแปรรูปสินค้า โรงแพ็คสินค้า และตลาดรวบรวมสินค้าเกษตร เพื่อพร้อมจัดจำหน่ายให้แก่ชุมชน ร้านค้า ร้านอาหารในพื้นที่ เช่น ศูนย์รับซื้อสินค้าผัก-ผลไม้ “ภาคเหนือ” ปัจจุบันรับซื้อผัก-ผลไม้ตรงกว่า 80 รายการ และในปัจจุบัน เพิ่มศูนย์รับซื้อผัก-ผลไม้ “ภาคกลาง” ที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง และมะม่วงทุกสายพันธุ์ กว่า 40 รายการ โดยตั้งเป้ารับซื้อเริ่มต้น 1,000 ตันต่อปี มีสมาชิก 50 ครัวเรือน พื้นที่คลอบคลุมกว่า 1,000 ไร่ ทั้งยังมีแผนขยายศูนย์รับซื้อสินค้าผัก-ผลไม้ “ภาคใต้” ซี่งขณะนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษาการจัดตั้งศูนย์ ฯ และหาความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง” โดยในปีนี้ “บิ๊กซี” เล็งเห็นโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อย จึงได้ตั้งทีม OTOP SMEs ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ เพื่อทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ ในการจับคู่ธุรกิจ (BUSINESS MATCHING) สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs OTOP และเกษตกร และกระทรวงวัฒนธรรมคัดสรรผู้ประกอบการ OTOP โดยร่วมทำงานกับหน่วยงานราชการในแต่ละภูมิภาค เพื่อหาสินค้าสินค้าท้องถิ่นมาวางจำหน่ายที่ บิ๊กซี

ในการขยายตลาดเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศ “บิ๊กซี” ถือเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับลูกค้าต่างชาติ ในการซื้อสินค้าของฝากกลับประเทศ เนื่องจากมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ที่คลอบคลุมทุกภูมิภาค เข้าถึงแหล่งนักท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น สาขาราชดำริ, ภูเก็ต, พัทยา และ เชียงใหม่ หัวใจสำคัญของการขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าต่างชาติ คือ การสร้างความจงรักภักดีในแบรนด์ (Brand loyalty) ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าซ้ำ และนึกถึงแบรนด์เราเป็นอับดับแรก ๆ ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นตัวกระตุ้นทำให้ช่องทางออนไลน์มีบทบาทสำคัญมากขึ้น ชาวต่างชาตินิยมใช้ช่องทางออนไลน์ โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและแหล่งซื้อสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook /Twitter /TikTok/ Instagram ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างและเกิดการกลับมาซื้อซ้ำ ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นจะต้องเตรียมพร้อมและคำนึงถึง ได้แก่ การผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข, การผลิตสินค้าให้มีความแตกต่าง มีนวัตกรรมและความแตกต่างที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด นำจุดเด่นของวัตถุดิบท้องถิ่นมาต่อยอด และบอกเล่าเรื่องราวในการพัฒนาสินค้าให้น่าสนใจ (Story telling), ปริมาณสินค้าที่วางจำหน่าย ต้องมีเพียงพอและสามารถวางจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานลูกค้า สร้างการจดจำและสามารถกลับมาซื้อซ้ำได้ และ การแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ผู้ประกอบการควรเข้าร่วมกิจกรรมการอบรมหรือการออกงานจำหน่ายสินค้าทั้งทางภาครัฐหรือเอกชน เพื่อเพิ่มความรู้ใหม่ ๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์กับผู้ประกอบการด้วยกันเอง”