​มรภ.สงขลา ร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ล่องเรือคลองร้อยสาย จ.สุราษฎร์ธานี


1 มี.ค. 2566

มรภ.สงขลา เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบ ประเมินเส้นทางท่องเที่ยว และกิจกรรมท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ล่องเรือคลองร้อยสาย พื้นที่ชุมชนลีเล็ด ชุมชนบางใบไม้ จ.สุราษฎร์ธานี มุ่งเน้นใช้กลไกทางด้านวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวโยงขับเคลื่อนงาน หวังร่วมหยุด ลด ชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมท่องเที่ยว พร้อมรับชมการออกอากาศได้ในรายการสมุดโคจร EP.35 เที่ยวเทรนด์ใหม่ Net Zero โชว์เสน่ห์วิถีชุมชนบนสายน้ำ

เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ พร้อมด้วยทีมนักวิจัยจาก มรภ.สงขลา เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบและประเมินเส้นทางท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีสายน้ำตามแนวทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวชุมชนลีเล็ด ชุมชนบางใบไม้ พื้นที่คลองร้อยสาย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่วิจัยนำร่องภาคใต้ ภายใต้การหนุนเสริมจากผู้ใหญ่ใจดีทั้งในพื้นที่ จ.สุราษฏร์ธานี และจากส่วนกลาง โดยเฉพาะหน่วยสนับสนุนวิจัย บพข. สกสว. นำโดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานอนุกรรมการ บพข.ด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ ดร.ฉัตรฉวี สกสว. ซึ่งให้การหนุนเสริมคณะผู้วิจัยฯ ในทุกทีมจากหลากหลายมหาวิทยาลัยอย่างเต็มกำลังเสมอมา

รศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือการนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การพัฒนาและต่อยอดด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีสายน้ำ เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ที่จะก่อให้เกิดการ หยุด ลด และชดเชยคาร์บอนที่เกิดจากการเดินทางท่องเที่ยว และการทำกิจกรรมท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยคณะนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ร่วมกับ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยพะเยา และเครือข่ายนักวิชาการในพื้นที่วิจัยของชุมชนท่องเที่ยวนำร่องของภาคใต้ (ชุมชนคลองร้อยสาย จ.สุราษฎร์ธานี) และพื้นที่ภาคกลาง (ชุมชนคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี /ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม/ ชุมชนคุ้งบางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ) ได้ดำเนินงานวิจัยร่วมกันอย่างมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อการพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีสายน้ำตามแนวทางคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และนำไปสู่การส่งต่อการพัฒนาให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุล และยั่งยืนในพื้นที่

ตลอดจนเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีส่วนร่วมในการทดสอบและประเมินกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีสายน้ำ ซึ่งคณะนักวิจัยได้ออกแบบและพัฒนาร่วมกันกับชุมชน เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ขอขอบคุณผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่คลองร้อยสาย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีเจตนารมย์ร่วมกันในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีสายน้ำเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยอย่างเต็มศักยภาพ