​มรภ.สงขลา ให้ความรู้ชุมชนตรวจตัดพันธุ์ปนระยะข้าวสุกและเก็บเกี่ยวข้าวแปลงอนุรักษ์ข้าวพื้นเมือง


27 มี.ค. 2566

มรภ.สงขลา จัดอบรมแหล่งข้าวชุมชนเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ข้าวพื้นเมือง ให้ความรู้พร้อมฝึกปฏิบัติตรวจตัดพันธุ์ปนในระยะข้าวสุกและการเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงอนุรักษ์ พร้อมจดบันทึกลักษณะการเก็บเกี่ยวข้าว หวังเปิดโอกาสเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กลุ่มเกษตรกร ต.ป่าชิง อ.จะนะ จ.สงขลา

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แหล่งข้าวชุมชนเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ข้าวพื้นเมือง ครั้งที่ 3 ฝึกปฏิบัติการ เรื่อง การตรวจตัดพันธุ์ปนในระยะข้าวสุกและการเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงอนุรักษ์ข้าวพื้นเมือง และฝึกปฏิบัติการ เรื่อง การจดบันทึกลักษณะการเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงอนุรักษ์ข้าวพื้นเมือง ณ พิพิธภัณฑ์ข้าวชุมชนป่าชิงของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายนาอินทรีย์ (จะณะแบ่งสุข) ต.ป่าชิง อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 เพื่อพัฒนาเกษตรกรในชุมชนเป้าหมายให้มีความสามารถในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองคุณภาพดี การคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้บริสุทธิ์ และสร้างแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ตลอดจนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองของชุมชนเป้าหมาย โดยมีอาจารย์จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ได้แก่ ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน ผศ.ดร.ธิติมา พานิชย์ ผศ.ขนิษฐา พันชูกลาง ร่วมให้ความรู้แก่คนในชุมชน

ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายนาอินทรีย์ (จะณะแบ่งสุข) มีความชำนาญในการปลูกข้าว และแปลงนาของเกษตรกรปลูกพันธุ์พื้นเมืองที่มีความหลากหลายพันธุ์ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ในชุมชนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความต้องการสร้างพิพิธภัณฑ์ข้าวชุมชนป่าชิง คณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) สนองพระราชดำริโดย มรภ.สงขลา เล็งเห็นถึงความสำคัญในการประสานงานและดำเนินงานร่วมกัน จึงได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้จำนวน 30 สายพันธุ์ให้แก่ผู้รับผิดชอบพิพิธภัณฑ์ข้าวชุมชนป่าชิง ของกลุ่มจะณะแบ่งสุข เพื่อนำไปใช้ในการอนุรักษ์ในสภาพธรรมชาติและเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน

ทว่า เกษตรกรยังขาดความรู้เกี่ยวกับการคัดพันธุ์ข้าว การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์อย่างถูกวิธี จึงทำให้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เกษตรกรปลูกนั้นมีการปะปนพันธุ์ และปริมาณผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งพันธุ์ปนในแปลงปลูกทำให้เกษตรกรไม่สามารถทราบศักยภาพของแต่ละพันธุ์ได้ถูกต้องชัดเจน

นอกจากนั้น การอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นบ้านไม่สามารถดำรงอยู่ในระยะยาวได้ ถ้าเพียงแค่ “การอนุรักษ์เพื่อปลูกอนุรักษ์ในแปลงนา” แต่ต้องทำให้มีการใช้ประโยชน์ข้าวพื้นเมืองอย่างเป็นรูปธรรมและมีความเป็นไปได้ในการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องการความรู้และเทคโนโลยีในการแปรรูปและสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากข้าวพื้นเมือง การบริหารจัดการผลผลิตเพื่อรายได้ รวมทั้งการสร้างตลาดใหม่/ตลาดเฉพาะ/ตลาดทางเลือก เพื่อเปิดโอกาสในการเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มเกษตรกรและชุมชน จึงนำมาสู่การจัดโครงการในครั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้นำองค์ความรู้ความสามารถในการคัดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้บริสุทธิ์ และมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวพันธุ์พื้นเมือง ตลอดจนได้เพิ่มทักษะความรู้สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองต่อไป