มรภ.สงขลา ติวเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ ตอบโจทย์ใช้งานได้จริง ปูทางสู่การพัฒนามาตรฐานสู่สากล


20 พ.ค. 2567

มรภ.สงขลา จัดอบรมเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ “RU: Research Utilization” เปิดเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ ตอบโจทย์นำไปใช้ได้จริง ปูทางสู่การพัฒนามาตรฐานงานวิจัยสู่สากล  

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ (RU: Research Utilization)” ณ ห้องประชุม อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ โดยมี รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวรายงานโดย ผศ.อภิชาติ พันชูกลาง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา วิทยากรโดย รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง จากมหาวิทยาลัยทักษิณ และ นางสาวภาวดี ใจเอื้อ จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) ถ่ายทอดประสบการณ์และแนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย RU และให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายและการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการความรู้จากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้งานวิจัยก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง 

 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักวิจัย ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการวิจัยและนวัตกรรม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะที่จำเป็นในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งในการบริหารจัดการงานวิจัยที่มีคุณภาพ จะต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่เป็นระบบและมีกลไกส่งเสริมสนับสนุนครบถ้วน เพื่อให้นักวิจัยสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ทั้งการสนับสนุนด้านการจัดหาแหล่งทุนวิจัย การส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะนักวิจัย การสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น ส่งผลให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยหรืองานสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม ตลอดจนจัดระบบสร้างขวัญและกำลังใจแก่นักวิจัยได้อย่างเหมาะสม

ด้าน ผศ.อภิชาติ พันชูกลาง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับความสนใจจากนักวิจัย คณาจารย์ และบุคลากรของ มรภ.สงขลา เข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีข้อเสนอโครงการวิจัยคุณภาพสูงที่สามารถตอบโจทย์การนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สถาบันวิจัยฯหวังว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มการยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยประเภทการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์กับแหล่งทุนภายนอกเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการพัฒนามาตรฐานการวิจัยของมหาวิทยาลัยสู่สากลมากขึ้นต่อไป

เนื้อหานี้ในภาษาอื่น