มรภ.สงขลา ยกผลิตภัณฑ์ 10 ชุมชนขึ้นห้าง ผนึกเครือข่ายสงขลา-พัทลุง-สตูล เดินหน้าพัฒนาท้องถิ่น
มรภ.สงขลา จัดงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ 10 ชุมชนบนห้าง ดึงศักยภาพภาคีเครือข่ายพื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง สตูล ร่วมสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น พร้อมผนึกกำลังยกระดับการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการและจัดงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนการท่องเที่ยวชุมชนโดยใช้กระบวนการทำงานในรูปแบบภาคเครือข่าย” ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม 2567 ณ ลานกิจกรรม เซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ โดยมี รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธี ผศ.ดร.รัชชพงษ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวรายงานโครงการ และ นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน
ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนจากชุมชนต้นแบบใน จ.สงขลา พัทลุง และ สตูล 10 ชุมชน การเดินเเบบผ้าพื้นถิ่นอัตลักษณ์ของชุมชนต้นแบบ นำโดย รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ คณาจารย์จากทุกคณะ และตัวแทนนางแบบนายแบบจากชุมชนต่าง ๆ เพื่อโชว์ผ้าพื้นถิ่นอัตลักษณ์ชุมชนและผลิตภัณฑ์ชุมชน การสัมมนาในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาชุมชนต้นแบบและแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” ผู้ทรงคุณวุฒิร่วมสัมมนา ประกอบด้วย นางนงเยาว์ จิรันดร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานหาดใหญ่ นายประสิทธิ์ กุลเทพรหม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา นายสุเทพ เกื้อสังข์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยว นายกิตธนา สุบรรพวงศ์ นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.รัชชพงษ์ ชัชวาลย์
รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า ขอชื่นชมคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะทำงาน ที่ผนึกกำลังเพื่อสร้างพื้นที่ชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็ง แสดงศักยภาพของนักวิชาการที่สอดรับกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” การนำเอาศักยภาพของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อน รวมถึงการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้สอดคล้องกับความต้องการระดับพื้นที่บนฐานองค์ความรู้และความเข้าใจในบริบทในเชิงลึก นับเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถของประชาน อีกทั้งการเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการรวมตัวของประชากรทุกกลุ่ม ทุกเพศทุกวัยในการร่วมคิดร่วมลงมือพัฒนา ถือเป็นพลังสำคัญในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคมควบคู่ไปกับการดำเนินการของภาครัฐในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า
ประการสำคัญ การพัฒนาการท่องเที่ยวระดับชุมชนท้องถิ่นและเชิงพื้นที่ ถือเป็นการวางแผนที่เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจกับชุมชนแหล่งท่องเที่ยว การนำทุนทางศิลปวัฒนธรรมมาสร้างให้เกิดมูลค่าและคุณค่าใหม่ เป็นการเพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนในทุกระดับเข้ามาเป็นกำลังของการพัฒนา เป็นการสร้างพื้นที่ สร้างความเข้าใจและยอมรับถึงคุณค่า และสร้างเป้าหมายร่วมหรือจุดร่วมอย่างสร้างสรรค์ ชุมชนผู้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวได้มีบทบาทต่อการบริหารจัดการ และทำนุบำรุงคงคุณค่าแห่งความงดงามเอาไว้ให้ยั่งยืน โดยความเข้าใจและมีจิตสำนึกถึงความเป็นเจ้าของ รวมทั้งมีสิทธิ์กำหนดแนวทางการพัฒนาไปด้วยกัน โครงการนี้ถือได้ว่าได้ส่งเสริมพันธกิจของ มรภ.สงขลา ทั้งด้านวิชาการและบริการวิชาการ ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างฐานความเข้มแข็งของชุนชนอันจะสนับสนุนการพัฒนาประเทศชาติให้มั่นคง ยั่งยืนสืบไป
ด้าน ผศ.ดร.รัชชพงษ์ ชัชวาล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน และเพื่อจัดแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน ซึ่ง มรภ.สงขลา ได้ใช้กระบวนการทำงานในรูปแบบภาคีเครือข่าย ขยายไปยังพื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง และ สตูล โดยครอบคลุมทั้งภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม/ ภาคประชาชน ก่อให้เกิดองค์ความรู้นวัตกรรมด้านการยกระดับการใช้ทรัพยากรของชุมชน SDG อย่างยั่งยืน
การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวส่งผลให้ภาคีเครือข่าย สามารถร่วมวางแผน ดำเนินงาน บริหารจัดการ แก้ปัญหา และมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา และการท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการดำเนินงาน การพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีการดึงศักยภาพด้านต่าง ๆ มาใช้ เพื่อให้มีการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและตรงจุด ทำให้ชุมชน ท้องถิ่น สามารถพัฒนาพื้นที่ของตนได้อย่างมั่นคงและเกิดความยั่งยืน โดยการอาศัยพลังความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของชุมชน
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.skru.ac.th/view_photo/photo1.php?album=2024083102