ม.อ.จับมืศูนย์เครื่องมือวิทย์ทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายเสริมขีดความสามารถการซ่อมอุปกรณ์
รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามร่วมมือ สร้างเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันที่มีการจัดตั้งศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ 16 แห่งทั่วประเทศ จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างคุณภาพการบริการวิเคราะห์ทดสอบตามวิธีการ และด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีความทันสมัยได้มาตรฐาน และมีนักวิจัยวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ทดสอบงานที่ซับซ้อน ทำให้ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ทั้งประเทศพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
“เครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย” ดังกล่าว ประกอบด้วย ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน
ภายหลังการลงนามดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต ทองอุไร ที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีบทบาทเป็นอย่างสูงในการพัฒนา ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ม.อ. จนประสบความสำเร็จสามารถเป็นต้นแบบแก่สถาบันอื่น ได้กล่าวแก่ผู้ร่วมงานถึงการเริ่มต้นของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ม.อ. ที่แม้ในช่วงแรกจะประสบปัญหาทั้งเรื่องการจัดการและทรัพยากร แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยและการเพิ่มวิศวกรเพื่อรองรับการบำรุงรักษาเครื่องมือ ใช้หลักการบริหารการเงิน อุปกรณ์เครื่องมือ บุคลากร แก้อุปสรรคเรื่องการจัดการ รวมทั้งมีการพัฒนาบุคลากรโดยการส่งอบรม ณ แหล่งผลิตเครื่องมือ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้ได้รับความไว้วางใจในการบริการ และสามารถสร้างรายได้แก่หน่วยงาน โดยในปัจจุบันศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ม.อ. มีผู้มาใช้บริการทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก
“ปัจจุบันอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้มีราคาสูงมาก และบางครั้งหากเกิดการชำรุดอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซม ทำให้เครื่องมือราคาแพงบางชิ้นอาจถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น การรวมตัวจัดตั้งเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ หากได้รับการสนับสนุนจนเกิดเป็นรูปธรรมชัดเจน จะสามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ในการซ่อมแซมอุปกรณ์ รวมทั้งส่งต่อเครื่องมือที่มีผู้นำมารับบริการ เพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง” รองศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต ทองอุไร กล่าว