ม.อ.ปัตตานี แถลงข่าวเตรียมจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ


17 มี.ค. 2560

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี แถลงข่าวเตรียมจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน

PNOHT600316001004501.JPG

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (16 มี.ค. 60) ที่โรงแรมบุรีศรีภูฯ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แถลงข่าวเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย รศ.ดร.พินิติ ระตะนานุกูล รองเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ สอวน. รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะเจ้าภาพการแข่งขันฯ และ รศ.ภูวดล บุตรรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต ในฐานะเจ้าภาพร่วม และมีสื่อมวลชนทุกแขนง รวมทั้งผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังโดยพร้อมเพรียงกัน

รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล รองเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ สอวน. กล่าวว่า การจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2502 ณ ประเทศโรมาเนีย ในสาขาคณิตศาสตร์ ต่อมาได้จัดการแข่งขันในวิชาฟิสิกส์ เคมี คอมพิวเตอร์ ชีววิทยา ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ และการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ตามลำดับ

ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรกในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 30 เมื่อปี 2532 ณ ประเทศสาธารณรัฐเยอรมัน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงให้การสนับสนุน ในปัจจุบันประเทศไทยส่งนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันครบทุกสาขาวิชา และยังได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศในวาระสำคัญๆ โดยเฉพาะในปี 2550 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกของโลกที่ประเทศไทย และในครั้งนี้ ในปี 2560 ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11

รองศาสตราจารย์ ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิก ระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 12-21 พฤศจิกายน 2560 ที่จังหวัดภูเก็ต โดยใช้สถานที่โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา เป็นสถานจัดพิธีเปิด ที่พักของนักเรียนผู้เข้าแข่งขัน และสถานที่สอบภาคทฤษฎี โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา เมอร์ลินบีช เป็นสถานที่พักของผู้ควบคุมทีม สถานที่พิจารณาข้อสอบและจัดทำข้อสอบ สนามกีฬาเทศบาลตำบลราไวย์ เป็นสถานที่สอบภาคสังเกตการณ์ และแหลมพรหมเทพ เป็นสถานที่สอบปฏิบัติการดูดาว

สำหรับการจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 นับเป็นการจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2 ของประเทศไทย โดย ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในประเทศไทย เมื่อปี 2550 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา และใน ครั้งที่ 11 ครั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาเขตปัตตานี ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพหลักในการแข่งขัน ซึ่งคณะฯ มีความพร้อมและเตรียมการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา กว่า 2 ปี ในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้

ด้าน รศ.ภูวดล บุตรรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ในฐานะเจ้าภาพร่วม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ทแอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต ซึ่งการเตรียมการรับเสด็จและการจัดพิธีเปิดมีความพร้อมแล้ว และนับเป็นโอกาสดีที่จังหวัดภูเก็ต มีโอกาสต้อนรับเยาวชนผู้เข้าแข่งขันและผู้ควบคุมทีมจากนานาประเทศ นอกจากจะได้นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวอันสวยงามซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับโลกแล้ว ยังมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจ อาหารพื้นเมืองที่หลากหลาย รสชาติอร่อย พร้อมที่นำเสนอสู่สายตาชาวต่างชาติ ให้สมกับการที่จังหวัดภูเก็ต ได้รับเกียรติประกาศเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร หรือ City of Gastronomy ของยูเนสโกอีกด้วย คาดหวังว่าผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะมีความประทับใจในการต้อนรับและความสุขที่ได้มาเยือนจังหวัดภูเก็ต และจะเผยแพร่ความประทับใจนี้ไปยังบุคคลอื่นและเชิญชวนให้กลับมาเยือนภูเก็ต “ไข่มุกแห่งอันดามัน” อีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การสอบแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เป็นสนามการแข่งขันของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศต่างๆ 46 ประเทศๆ ละไม่เกิน 5 คน และอาจารย์ผู้ควบคุมทีมประเทศละไม่เกิน 2 คน โดยมีการสอบทั้งภาคทฤษฎี ภาควิเคราะห์ข้อมูล การสอบภาคสังเกตการณ์ ซึ่งเป็นการดูดาวจริงบนท้องฟ้า โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ ในภายหลังได้มีการเพิ่มเติมการสอบลักษณะอื่นด้วย เช่น การใช้โดมท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น ซึ่งการแข่งขันมิได้มุ่งเน้นผลคะแนนและเหรียญรางวัลแต่เพียงอย่างเดียว แต่นักเรียนผู้เข้าสอบจะได้รับประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกับนักเรียนจากประเทศอื่นๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในอนาคตอีกด้วย

PNOHT600316001004514.JPGPNOHT600316001004512.JPG

ข้อมูลและที่มาจาก สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา