ศูนย์อาเซียนศึกษา ม.อ. จัดระดมสมองทำแผนเพิ่มนักท่องเที่ยวจากอาเซียนใต้


29 มี.ค. 2561

ศูนย์อาเซียนศึกษา ม.อ. จัดระดมสมองทำแผนเพิ่มนักท่องเที่ยวจากอาเซียนใต้

tourist1.jpg

ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ร่วมกับ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา และ สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมสมอง จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ “โครงการการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้เพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซียและอาเซียนใต้”  สำหรับจังหวัดชายแดนใต้เน้นจังหวัดสงขลาและสตูล เพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซีย โดยจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ 8 ครั้ง ซึ่งครั้งแรก จะจัดในวัน พุธที่ 4 เมษายน 2561 ที่ห้องประชุม 210 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อวิเคราะห์แผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนางานด้าน ความปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยว  และ ด้านโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยว โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหาร นักปกครอง นักวิชาการ หน่วยงานใน 5 จังหวัดภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคง  การท่องเที่ยว การขนส่ง และกงสุล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพัตรา เดวิสัน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของไทย มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและทรัพยากรการท่องเที่ยว ทั้งทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และยังมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยหลายๆด้าน  อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา การพัฒนาการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในเรื่องการขาดองค์ความรู้ ข้อมูลเชิงลึก และเชิงวิเคราะห์ ซึ่งมีความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในแถบอาเซียนตอนใต้ ซึ่งมีประชากรอยู่หนาแน่น 

supattra.JPG

ดร.สุพัตรา เดวิสัน

 “ประเทศอินโดนีเซียประเทศเดียวมีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรอาเซียนทั้งหมด แต่หลายปีที่ผ่านมา แนวโน้มของนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียมีอัตราที่ลดลงจาก ปี 2555 - 2556 โดยลดจาก 53,480 เหลือเพียง 12,098 คน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการยกเลิกสายการบินตรงจากประเทศอินโดนีเซีย มายังหาดใหญ่ ประเทศไทย และ อัตราการแข็งขันที่สูงมาก การพัฒนาบนฐานของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันสมัย จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและบริการของกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้และของประเทศไทยในภาพรวม” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาเซียนศึกษา กล่าว