ม.อ.จัดเวทีระดมสมองทำแผนท่องเที่ยวใต้ วอนหน่วยงานร่วมมือด้านข้อมูลรับกลุ่มทัวร์จากอาเซียน


5 เม.ย. 2561

ม.อ.จัดเวทีระดมสมองทำแผนท่องเที่ยวใต้ วอนหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือด้านข้อมูลรับกลุ่มทัวร์จากอาเซียน

DSCF7324.jpg

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการจัดประชุมโต๊ะกลมเพื่อระดมสมองในหัวข้อ “ศักยภาพการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้สู่อาเซียน: วิเคราะห์แผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนางานด้านความปลอดภัยและโลจิสติกส์ของนักท่องเที่ยว” จัดโดยศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับจังหวัดสงขลา และ สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ ได้รับความสนใจจากผู้เกี่ยวข้องและให้ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปประกอบการจัดทำร่างยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการโดยมีการเสนอให้บูรณาการความร่วมมือและพัฒนาส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และพัฒนาข้อมูลการท่องเที่ยวในสื่อดิจิตอล

การระดมสมองดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมให้ความคิดเห็น จำนวน 50 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร นักปกครอง นักวิชาการ หน่วยงานด้านความมั่นคง การปกครอง การท่องเที่ยว การขนส่ง สถานกงสุล สายการบิน ภาคธุรกิจและชุมชน เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ ปัญหาอุปสรรค ในการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวอินโดนีเซีย และความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยแบ่งเป็นหัวข้อความปลอดภัยการท่องเที่ยว และโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว

DSCF7347.jpg

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพัตรา เดวิสัน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาเซียนศึกษา กล่าวว่าในการระดมสมองด้านความปลอดภัยการท่องเที่ยว ที่ประชุมเห็นว่าภัยที่เกิดขึ้นที่กระทบกับการท่องเที่ยวมี 5 ประเภทใหญ่ๆ คือ อุบัติเหตุ การก่อความไม่สงบ การหลอกลวง อาชญากรรม ภัยธรรมชาติ และสุขอนามัย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น และกระทบคุณภาพของสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในปัจจุบันและอนาคต อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวและผู้ให้บริการส่วนหนึ่งยังไม่ตระหนักถึงภัยที่เกิดขึ้น เนื่องจากขาดทรัพยากรและความรู้ ขาดบุคลากรและผู้รับผิดชอบ มีการละเลยกฎระเบียบ และขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน

DSCF7338.jpg

สำหรับข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาในด้านการท่องเที่ยว มีการเสนอให้มีการบูรณาการความร่วมมือในทุกระดับ ทั้งภาครัฐและประชาชน พัฒนาสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการช่วยเหลือ พัฒนามาตรฐานบุคลากรและการรักษาความปลอดภัย การบังคับใช้กฎหมาย และการบริหารจัดการ และใช้มิติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว

นอกจากนั้นในด้านโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยว ผู้เข้าประชุมได้เสนอให้มีการเพิ่มการบริการขนส่งนักท่องเที่ยวสู่แหล่งท่องเที่ยว มีป้ายแสดงระยะทางและที่ตั้งแหล่งท่องเที่ยวให้มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาข้อมูลในสื่อดิจิตอลหรือผ่านแอพพลิเคชัน การอำนวยความสะดวกในการทำวีซ่า การเข้าประเทศ การพัฒนาท่าอากาศยาน สถานีขนส่ง แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ พัฒนาการท่องเที่ยวฮาลาล การท่องเที่ยวชุมชน และเพิ่มความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านโลจิสติกส์

DSCF7342.jpg