มรภ.สงขลา สอน นศ. ทำธุรกิจฟองยางเพื่อสุขภาพ


5 เม.ย. 2561

มรภ.สงขลา ขานรับนโยบายสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ ดึงนักศึกษาฝึกทำธุรกิจฟองยางเพื่อสุขภาพ สร้างแรงบันดาลใจก้าวสู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่

page.jpg

อ.เอกฤกษ์ พุ่มนก ประธานโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการอบรมทำธุรกิจฟองยางเพื่อสุขภาพให้แก่นักศึกษาปี 1-4 และคณาจารย์ในโปรแกรมฯ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เข้าอบรมและนำองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนเสริมสร้างทักษะความรู้ในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากฟองยางธรรมชาติได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมในการรองรับสรีระของมนุษย์ เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะในการนอนหลับ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นสามารถรับน้ำหนักได้ดี ไม่ยุบตัวเมื่อต้องแบกรับน้ำหนักกดทับเป็นเวลานาน และโครงสร้างของฟองยังทำให้อากาศไหลเวียนผ่านสู่ร่างกายมนุษย์ได้ดี ทำให้ไม่ร้อน นอนหลับสบาย

อ.เอกฤกษ์ กล่าวว่า โปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ เล็งเห็นถึงสมรรถภาพของนักศึกษาและอาจารย์ในองค์กรในด้านองค์ความรู้ด้านฟองยาง จึงจัดอบรมในครั้งนี้ขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (UBI) มรภ.สงขลา เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาและอาจารย์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินธุรกิจที่นำองค์ความรู้จากการศึกษาและงานวิจัยมาใช้ ซึ่งกลไกดังกล่าวจะก่อให้เกิดการพัฒนาหรือขับเคลื่อนโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างยั่งยืน และพัฒนานักศึกษาในโปรแกรมฯ ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นถึงระดับการเป็นนักธุรกิจได้ในอนาคต

ด้าน น.ส.อมราวดี วงศ์เทพ ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ในฐานะวิทยากร กล่าวว่า ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้และฝึกปฏิบัติผ่านทางหลักสูตรต่าง ดังต่อไปนี้ 1. การสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นผู้ประกอบการ 2. หลักและวิธีการเริ่มต้นธุรกิจ 3. การสร้างผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 4. จัดทำบิสซิเนส โมเดล (Business Model) ให้กับนักศึกษา 5. การนำเสนอแนวคิดธุรกิจ 6. การเตรียมสารเคมีสำหรับน้ำยาง 7. หลักการทำโฟมยาง 8. การทดสอบผลิตภัณฑ์จากโฟมยาง และ 9. ฝึกปฏิบัติการทำโฟมยาง

น.ส.อมราวดี กล่าวอีกว่า การนำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ที่มีของมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ เพิ่มมูลค่าสินค้า ปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย รัฐบาลจึงให้การสนับสนุนในการพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นผู้เริ่มและขับเคลื่อนธุรกิจที่เกิดจากองค์ความรู้ใหม่ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเห็นได้จากการขับเคลื่อนนโยบายสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ (startup Thailand) ทำให้เกิดการตื่นตัวและได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากการจัดการประกวดธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เกิดขึ้นทุกปีในแต่ละมหาวิทยาลัยของไทย

48342.jpgน.ส.อมราวดี ให้ความรู้ นศ..jpgนศ.ฝึกปฏิบัติทำฟองยาง.jpgแผ่นฟองยางเพื่อสุขภาพ.jpg