คณะเภสัชฯ ม.อ.ลงนามเอกชนนำสารสกัดจากใบชะมวงมาผลิตเป็นยาต้านมะเร็ง


18 พ.ค. 2561

คณะเภสัชฯ ม.อ.ลงนามเอกชนนำสารสกัดจากใบชะมวงมาผลิตเป็นยาต้านมะเร็ง

31760063_1936535959731425_8380243886198489088_n.jpg

ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำงานวิจัยของนักวิจัยไทยไปสร้างประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ  นำสารสกัดจากใบชะมวงมาผลิตเป็นยาต้านมะเร็ง โดยจัดพิธีลงนามอนุญาตให้ นำสิทธิบัตรผลงานเรื่อง “กรรมวิธีการเตรียมสารสกัดใบชะมวงที่มีสารชะมวงโอน” คำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 1601001173 ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ผู้สนับสนุนทุนวิจัย โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของผลงานกับ บริษัท โรงงานเภสัชกรรมเกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด เป็นผู้รับอนุญาต โดยมีรองศาสตราจารย์ นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นเกียรติ และรองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ลงนาม กับผู้รับอนุญาต ได้แก่นายเชิญพร เต็งอำนวย กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงงานเภสัชกรรมเกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด และ เภสัชกรหญิงสุวัฒนา จารุมิลินทร ร่วมเป็นสักขีพยาน

ดร.เภสัชกรภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์  เปิดเผยถึงกรรมวิธีในการผลิตว่า เป็นการนำสารชะมวงโอนจากใบชะมวงโดยใช้น้ำมันรำข้าวเป็นตัวทำละลาย สกัดด้วยคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งเป็นกรรมวิธีการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาผลิตยาต้านมะเร็ง

จากการวิจัยพบว่าน้ำมันรำข้าวเป็นน้ำมันพืชที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาสกัดสารชะมวงโอน และเมื่อนำสารสกัดไปทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง 3 ชนิดในห้องทดลองได้แก่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด พบว่าสารดังกล่าวยับยั้งเซลมะเร็งได้ดี และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ปกติ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี สามารถนำกรรมวิธีนี้ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมผลิตสารสกัด อาหารเสริม อาหารเพื่อสุขภาพ และยาต่อไปในอนาคต

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิจัยผักพื้นบ้านไทย และพบสารชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์ต้านมะเร็ง จากใบชะมวงเป็นครั้งแรกในโลก ซึ่งจะสารต้นแบบที่สามารถนำไปพัฒนาโครงสร้างสู่ยาต้านมะเร็ง  จากภูมิปัญญาไทย “หมูต้มชะมวง” เพราะศึกษาพบว่าสารจากใบชะมวงที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งละลายได้ดีในน้ำมัน

Image.jpg

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ ผู้อำนวยการสถานวิจัยยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมกับนายอภิรักษ์ สกุลปักษ์ นักศึกษาทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ศึกษาวิจัยคุณสมบัติในการมีฤทธิ์ต้านมะเร็งของพืชผักพื้นบ้านที่นำมาประกอบอาหารโดยเฉพาะผักพื้นบ้านภาคใต้ และสามารถแยกสารต้านมะเร็งและต้านแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหารจาก “ใบชะมวง” ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก โดยทำการศึกษาต้นคว้าอยู่เป็นเวลา 2 ปี ผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Food Chemistry ซึ่งเป็นวารสารที่ได้รับความเชื่อถือและยอมรับอย่างมากในวงวิชาการ และยังได้รับรางวัล รางวัล Special Award จาก Taiwan International Invention Award Winners Association ประเทศไต้หวัน และอื่นๆ

การศึกษาวิจัยเริ่มจากการเก็บรวบรวมพืชผักพื้นบ้านจำนวน 22 ชนิด เพื่อนำมาสกัดและทดสอบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรคในทางเดินอาหารหรือไม่ โดยพบว่าชะมวงเป็นพืชที่ออกฤทธิ์ดีที่สุด จึงได้นำมาแยกสารที่ต้องการ จนสามารถได้สารตัวหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์ในระดับดีมาก มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ หรือ MIC ประมาณ 7.8 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สิ่งที่สำคัญคือหลังจากหาสูตรโครงสร้างแล้ว พบว่าสารตัวนี้เป็นสารใหม่ที่ไม่เคยมีใครรายงานมาก่อนในโลก จึงตั้งชื่อว่า “ชะมวงโอน” (chamuangone) เพื่อให้แสดงว่ามาจากประเทศไทย ต่อจากนั้นได้มีการศึกษาต่อถึงความเป็นไปได้ในการออกฤทธ์ยับยั้งเชื้อโปรโตซัวร์ เพื่อนำไปสู่การศึกษาการยับยั้งเซลมะเร็งต่อไป โดยได้นำไปทดสอบกับกลุ่มโปรโตซัวร์ Leishmania major ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคที่เคยพบระบาดในภาคใต้ของไทยมาแล้ว พบว่าสารชะมวงโอน สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งโปรโตซัวร์ Leishmania major ได้ดี จึงได้นำ“ชะมวงโอน” ไปทดสอบกับเซลมะเร็งปอดและเซลมะเร็งเม็ดเลือดขาว และพบว่าสารชะมวงโอนมีในการต้านเซลมะเร็งได้ฤทธิ์ดี

ผลจากความสำเร็จในการค้นคว้าครั้งนี้ คือ การได้โครงสร้างใหม่ของสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง เพื่อจะได้มีการดัดแปลงพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งที่ออกฤทธิ์ดีขึ้น และลดอาการข้างเคียงต่อเซลล์ปกติ และพบว่า การที่สังคมไทยใช้ใบชะมวงมาประกอบอาหารแสดงให้เห็นว่าเป็นพืชที่ปลอดภัย และอาจจะมีส่วนในการช่วยป้องกันการเกิดโรคกระเพาะอาหารและมะเร็งได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการที่คนไทยรู้จักนำใบชะมวงมาต้มกับหมูนับเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ดีเลิศ เพราะพบว่าสารชะมวงโอนสามารถละลายในไขมันได้ดีกว่าละลายในน้ำธรรมดา นับเป็นการนำงานวิจัยของนักวิจัยไทยไปสร้างประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ งานวิจัยไม่ได้อยู่เฉพาะในตำราหรือบนหิ้งเท่านั้น

n130214_04.jpgn130214_05.jpg