รู้จักนศ.ทุนพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เชื่อมั่น ศรัทธา เดินตามฝันสู่อาชีพนักวิจัยด้านอาหาร


13 มิ.ย. 2561

รู้จัก ‘อีมาน เปาะมือแย’ นศ.ทุนพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เชื่อมั่น ศรัทธา เดินตามฝันสู่อาชีพนักวิจัยด้านอาหาร

33194568_2032072813683124_319783456470990848_n.jpg

                “เนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานทุนการศึกษาให้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ทำให้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว สร้างขวัญกำลังใจและเป็นเกียรติแต่ตนเองและวงศ์ตระกูล ดิฉันจึงตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน และใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยให้มีคุณค่ามากที่สุด เพื่อสืบสานพระราชดำริพัฒนาประเทศชาติ เดินตามรอยพระองค์ท่านต่อไปในภายภาคหน้า”

                น.ส.อีมาน เปาะมือแย นักศึกษาโปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวถึงความภาคภูมิใจต่อการเป็นนักศึกษาทุนพระราชทาน ว่า ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของชีวิตนักศึกษาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาในรั้วมหาวิทยาลัย แบกทั้งความหวังของครอบครัวและเกียรติยศของนักศึกษาทุนพระราชทาน ไม่เพียงแค่ขยันหมั่นเพียร แต่ยังต้องรู้จักการใช้ชีวิตและเอาตัวรอดจากสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาทดสอบอยู่เสมอ แต่ถึงกระนั้นเธอก็เปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้าและตัวเอง ตามชื่อ “อีมาน” ในภาษาอาหรับ ที่หมายถึง ความศรัทธา เพราะในขณะที่ความหนักหนาของการเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนปีที่เรียนสูงขึ้น ชีวิตจะต้องถูกจัดให้เป็นระบบระเบียบและอยู่หน้าตำรามากขึ้นกว่าเดิม การเรียนในห้องเรียนอาจจะทำให้เข้าใจไม่มากพอ การขวนขวายนอกตำราจึงเกิดขึ้น

01.jpg

น.ส.อีมาน เปาะมือแย 

                การเรียนในช่วงปีที่ 3 นับว่าค่อนข้างหนัก เพราะเป็นวิชาเอกเสียส่วนใหญ่ เริ่มเข้าสู่ศาสตร์ในเชิงลึกของแขนงวิชาที่เรียน ทั้งวิเคราะห์ คำนวณ และอาศัยความแม่นยำในการจดจำ การเรียนในห้องเรียนมีการสอบวัดผลอยู่ตลอดเวลา ทำให้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการอ่านหนังสือ ติวหนังสือกับเพื่อน และจดเลคเชอร์ ใช้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยคุ้มที่สุดจากค่าเทอมที่ทุนจ่ายให้ แม้บางครั้งเริ่มมีอาการเครียด และท้อ แต่จะให้ทำอย่างไรได้นอกจากปลอบใจตัวเองให้สู้ต่อไป ในเมื่อเดิมพันนี้ต้องแลกกับความสุขของครอบครัวและอาชีพที่ใฝ่ฝันกับการเป็นนักวิจัยด้านอาหาร เพื่อให้พี่น้องมุสลิมปลอดภัยได้รับประทานสิ่งที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม นี่คือสิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้อดทน เพราะระลึกเสมอว่าทำเพื่ออะไรและเพื่อใคร

                นอกจากต้องอดทนกับการเรียนแล้ว การใช้ชีวิตตัวคนเดียวไกลบ้านก็บั่นทอนจิตใจไม่ใช่เล่น ความเหงาเข้าจู่โจมหัวใจแทบทุกครั้งที่สายตาละจากโปรเจ็กเตอร์หรือตำราเรียน บทสนทนาในกลุ่มเพื่อนสร้างรอยยิ้มเสียงหัวเราะเพียงฉาบฉวยเท่านั้น ความสงบเกิดขึ้นใจจิตใจขณะโน้มตัวลงละหมาด กล่าวระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า และนึกถึงครอบครัวพ่อแม่ ภาพท่านทำงานขายของ และเลี้ยงหลานลูกของพี่สาววูบเข้ามาจากความทรงจำ จนเผลอยิ้มออกมาครู่หนึ่ง นึกถึงลูกค้าที่มารอเธอทำข้าวเกรียบปากหม้อ ความอลหม่านในเพิงร้านค้าเล็กๆ ช่วยลบเลือนริ้วรอยความโหดร้ายจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ได้บ้าง แต่หากมองภาพนี้จากสายตายามไกลบ้าน ความห่วงใยและหวั่นกลัวสถานการณ์ก็ปรากฏขึ้น ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะจากไปเหลือไว้แต่เพียงภาพเป็นอดีต และอธิษฐานต่อองค์อัลเลาะห์ให้ลูกๆ ของพระองค์รอดพ้นปลอดภัย ให้ปัตตานีเป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว และรักษาครอบครัวที่รักให้มีกันตลอดไป

                สิ่งหนึ่งที่ช่วยเยียวยาความโดดเดี่ยวจากอาการคนคิดถึงบ้านได้ก็คือ การมีเพื่อนที่ดี นับเป็นเรื่องโชคดีในรั้วมหาวิทยาลัยที่ได้พบกัลยาณมิตร คอยช่วยเหลือและสนับสนุน เพื่อนบางคนก็สนุกสนานทำให้คลายเครียดจากการเรียนหรือปัญหาต่างๆ ได้ บางคนมีความเป็นผู้ใหญ่สามารถให้คำปรึกษาและคำแนะนำได้ดียิ่งกว่านักจิตวิทยาเสียอีก ซึ่งสิ่งที่เธอทำให้เพื่อนๆ ได้ก็คือการชวนเพื่อนสาวมุสลิมละหมาดให้ครบทุกเวลา ทั้งด้วยการปฺฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างและการชักชวน นอกจากการคุยเรื่องเนื้อหาในบทเรียนแล้ว การคุยเรื่องศาสนาก็มักเป็นหัวข้อหนึ่งที่อยู่ในวงสนทนา ความสุขเล็กๆ กับกลุ่มเพื่อนจึงค่อนข้างราบเรียบไม่ฉูดฉาด และไม่ฉาบฉวยเช่นกัน

                ตลอด 3 ปี อีมาน ยังคงไว้วางใจและฝากชีวิตไว้กับหอพักของมหาวิทยาลัย การเป็นเด็กหอในกับสโลแกนที่ว่า “เด็กในวัง” มีที่มาที่ไปจากคำเปรียบเปรย ไม่ใช่ใครจะมาอยู่หอในก็ได้ เพราะต้องผ่านการคัดเลือกจากวิธีสุดพิถีพิถัน และเมื่อเข้ามาอยู่เป็นเด็กหอในแล้วยังมีกฎต่างๆ มากมายให้ปฏิบัติ เพื่อทดสอบว่าในเทอมต่อไปจะมีรายชื่อให้อยู่ต่อได้อีกหรือไม่ แต่ด้วยความประพฤติของเธอทำให้หมดกังขาในเรื่องนี้ ในฐานะพี่ปี 3 แทบจะเป็นพี่ใหญ่ในหอทำให้ต้องดูแลรับผิดชอบน้องๆ ที่เพิ่งเข้ามา และสบายขึ้นในเรื่องการทำเวรความสะอาดหอ แต่สาเหตุหลักๆ ที่ยังทำให้เลือกอยู่ที่นี่คือหอในช่วยสร้างความมีระเบียบวินัยให้ตนเอง สามารถทดแทนความอบอุ่นยามไกลบ้าน เพราะที่นี่อยู่กันแบบพี่น้อง การประชุมหอทำให้ได้พูดคุยกันทุกคืน สร้างความสนิทสนมกันแทบทุกห้อง และที่สำคัญคือ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายต่อเดือนไปได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่อาศัยอยู่หอนอกมหาวิทยาลัย เพราะจ่ายค่าหอเป็นรายเทอม เทอมละ 4n000 บาท ทำให้ครอบครัวสามารถหมุนเงินได้ และได้เอาเงินทุนไปใช้จ่ายในส่วนอื่นแทน

                หากใครคิดว่าเรียนมหาวิทยาลัยแล้วจะต้องใช้เงินมาก เพราะอาหารการกินแพง นั่นเพราะพวกเขาเลือกกินของแพง สำหรับเธออาหารบริเวณหน้าหรือโรงอาหารมหาวิทยาลัย เป็นราคานักศึกษา ข้าวราดแกงจานละ 25 บาท แกงถุงละ 20 บาท ก็อิ่มได้ หลักการเลือกคือขอแค่คนขายเป็นมุสลิม และแต่งกายถูกต้องตามหลักศาสนา หน้าร้านดูสะอาด ถึงแม้รสชาติอาจจะไม่ถูกปากเหมือนที่บ้าน แต่ก็ทำให้มีแรงไปเรียนไหว การเลือกซื้อของกินในร้านค้าก็ดูเครื่องหมายฮาลาลเป็นหลัก และดูโปรโมชั่นส่วนลดราคาหรือสิทธิพิเศษอื่นๆ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จึงไม่ได้มากมาย ทำให้มีเงินทุ่มเทให้กับหนังสือและอุปกรณ์การเรียนอีกด้วย

                ชีวิตในรั้วในมหาวิทยาลัยไม่มีอะไรมาก แค่เรียน ทำกิจกรรม กิน นอน แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนมีขั้นตอนที่ละเอียดยิบ และทำให้ในหนึ่งวันเกิดเรื่องราวต่างๆ มากมาย ความเครียด ความท้อ เป็นเพียงภาพมายาชั่วขณะหนึ่ง เมื่อเรื่องนี้จบไปเรื่องใหม่ก็เข้ามาแทน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัวเอง จนวันหนึ่งความเข้มแข็งผลิดอกเติบโตงอกงามในใจ เราจึงสามารถก้าวเท้าได้อย่างมั่นคง และคิดถึงภาพอนาคตได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

                อย่างไรก็ตาม เธอรู้สึกขอบคุณพระเจ้าผู้ทรงลิขิตชีวิต ครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนให้กำลังใจ และเพื่อนๆ ที่กอดคอมาด้วยกันตั้งแต่ปีหนึ่ง อีกไม่นานเกินรอ เธอก็จะจบการศึกษาและเดินไปตามเส้นทางอนาคตที่ใฝ่ฝัน และนี่ก็คือเรื่องราวชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของเธอ “อีมาน เปาะมือแย”  

33248933_2032067067017032_7641882816958955520_n.jpg33425664_2032072890349783_8777222490687537152_n.jpg33216354_2032066960350376_826611372883181568_n.jpg

เรื่องโดย/  สุนทรียา ลาสวัสดิ์ นักศึกษาโปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นักศึกษาทุนพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ข่าวโดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)