1 ปีในแดนมังกร ประสบการณ์ดีๆ ของ นิสิต ม.ทักษิณ


18 ส.ค. 2561

1 ปีในแดนมังกร ประสบการณ์ดีๆ ของ นิสิต ม.ทักษิณ

เผลอแป๊ปเดียว ครบ 1 ปีแล้วครับ สำหรับการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีนที่มหาวิทยาลัยครูกว่างซี เขตปกครองตนเองมณฑลกว่างซี

pawit solo.jpg

เมื่อปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน 3+1 ระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณกับม.ครูกว่างซี ณ สาธารณะรัฐประชาชนจีนเป็นเวลา 1 ปี (ในชั้นปีที่แล้วของการเรียนหลักสูตรภาษาจีน นิสิตสามารถเลือกโปรแกรมนี้เพื่อไปเรียนที่ม.ในประเทศจีนและกลับมาเรียนปี 4 ที่ม.ทักษิณต่อ) ฟังดูแล้วอาจจะนาน นะครับ แต่พอมาอยู่จริงๆคือผ่านไปเร็วมาก ช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ครั้งนี้เร็วเหมือนแม่น้ำเหลืองที่ไกลลงสู่ทะเลจีนใต้

การเป็นนักเรียนในต่างแดนนี้ เราเป็นทั้งนักเรียน และอยู่ในต่างแดน ลำพังเป็นนักเรียนเก็บสะสมความรู้ทุกวันก็ยากแล้ว นี่ต้องอยู่กินใช้ชีวิตในต่างเมืองต่างวัฒนธรรม อะไรที่ผ่านเข้ามาในช่วงเวลานั้นทั้งสนุกสุดเหวี่ยงหรือแปลกสุดๆ ก็เหมือนจะฝังลงไปในความทรงจำและยากที่จะลบเลือน และวันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะมาเล่าถึงสิ่งที่ได้จากการไปแลกเปลี่ยนครั้งนี้ให้เพื่อนๆฟังกันครับ

 

นักเรียนไทยกับการทำวีซ่าและรายงานตัว:

แน่นอนครับสิ่งที่สำคัญที่ต้องทำให้พร้อมก็คือวีซ่า นักศึกษาต่างชาติ ซึ่งต้องทำให้เสร็จเรียบร้อยภายในสองเดือนหลังจากมาถึง(วีซ่าหมดถูกปรับวันละประมาณ500หยวน หรือราว 2,500บาทไทย นะคร้าบ) ในการต่อวีซ่าจาก 2เดือนเป็น 1ปี เป็นขั้นตอนที่ต้องเตรียมเอกสารต่างไว้อย่างดีแต่โชคดีมากที่มีอาจารย์ชาวไทยประจำอยู่ที่ ม คอยดูแลนักศึกษาชาวไทย  ทำให้ทุกอย่างผ่านไปอย่างไร้ความกังวล. หลังจากผ่านกระบวนการลงทะเบียนและแสดงตัวในการเป็นนักเรียนของมหาวิทยาลัยครูกว่างซีแล้วก็ถึงเวลาสำหรับการเข้าเรียนอย่างเป็นทางการในมหาวิทยาลัยในจีน

pawit group.jpg

การเรียนในประเทศจีน

มาดูกันครับว่าจะเป็นอย่างไร มีความแตกต่างจากบ้านเราอย่างไรบ้าง. วิชาเรียนแบ่งเป็นสองภาคการศึกษา: ภาคการศึกษาแรกเริ่มเปิดช่วงกลางเดือนกันยายน จนถึงต้นเดือนมกราคม ในภาคการศึกษาที่ 1 กับ 6 วิชาหลักที่ผมเรียน ได้แก่ ภาษาจีนโบราณ การเขียนภาษาจีน  สื่อโสตทัศน์จีน ประวัติศาสตร์จีน พู่กันจีนและภาษาจีนขั้นสูง แต่ละวิชาก็จะยากง่ายกันออกไปซึ่งเนื้อหาในการสอนของอาจารย์แต่ละวิชา ก็จะเข้มข้น และแน่น โดยเฉพาะวิชาภาษาจีนโบราณฟังดูแล้วเหมือนจะยากใช่ไหมครับ อยากบอกว่าใช่ครับยากมาก เนื่องจากเป็นอักษรโบราณที่ต้องเรียนอาจารย์ก็ใช้ภาษาจีนในการอธิบายเนื้อหาซึ่งยอมรับนะครับว่าไม่ชินและปรับตัวไม่ได้ในช่วงหนึ่งเดือนแรก ส่วนวิชาอื่นก็เข้าใจง่ายขึ้นมาสักหน่อย

ถึงแม้ว่าเนื้อหาวิชาเรียนจะหนักและยากสำหรับนักเรียนไทย แต่โชคดีอาจารย์เข้าใจพื้นฐานการเรียนของนักศึกษาต่างชาติ เลยพยายามอธิบายเนื้อหาให้เข้าใจง่ายขึ้นและรวบรัดขึ้น. สิ้นสุดฤดูหนาว เริ่มต้นภาคเรียนที่ 2 โดยเริ่มจากต้นเดือนมีนาคม-กลางเดือนกรกฎาคม. ลงทะเบียนเรียน 6 วิชาได้แก่วิชาวรรณคดีจีน การพูดในที่ประชุ่มชน การอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาจีน

การฟัง,วิชาภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมจีนและวิชาสำนวนจีน ดูเหมือนว่าแต่ละวิชาดูแล้วมียากบ้างง่ายบ้างต่างกันออกไปแต่ผมอยากบอกว่าทุกวิชาสามารถนำไปใช้งานได้จริงและเป็นประโยชน์มากในสายวิชาชีพที่ต้องใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร วิชาที่ผมชอบคือวิชาการพูดในที่ประชุมและวิชาการฟังทำให้การเรียนในภาคเรียนนี้ผมเรียนอย่างมีความสุขและสนุกพร้อมที่จะรับข้อมูล

ภาคเรียนที่สองเป็นเวลาที่ทำให้ผมรู้เลยว่าภาษาจีนของตนเองได้พัฒนาแล้ว สามารถฟังเข้าใจมากขึ้น พูดสื่อสารในชีวิตประจำวันและดำเนินการต่างๆได้คล่องขึ้น จนได้มีโอกาสเป็นตัวแทนนักเรียนไทยเข้าร่วมกิจกรรมการพูดได้แสดงศักยภาพบนเวทีเนื่องในวันกิจกรรมและวันสำคัญต่างๆของมหาวิทยาลัยซึ่งจะมาเพื่อนชาวเกาหลีเวียดนามและอื่นๆที่เข้าร่วม.ก่อนขึ้นเวทีผมก็รู้สึกกดดันและตื่นเต้นมากเพราะภายในหอประชุมเต็มไปด้วยผู้ชมมากมายอีกทั้งเป็นนักเรียนและอาจารย์ชาวจีนแต่ผมก็พยายามที่จะขจัดความกลัวออกและไม่ให้ตื่นเต้นพยายามคิดถึงหน้าตาตนเองและมหาวิทยาลัยและนักเรียนไทย

ทุกอย่างผ่านมาได้ด้วยดี ห้องเรียนกับบรรยากาศ: เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่มีครบ 4 ฤดูกาล

ผมมาถึงประเทศจีนในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว.ผมชอบเรียนบรรยากาศในห้องเรียนมากที่สุดตรงช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนเพราะเข้าสู่ฤดูหนาวเต็มตัว โดยส่วนตัวผมชอบฤดูหนาว เพราะจะได้ใส่ชุดหนาๆสร้างความอบอุ่นในห้องเรียนและทำกิจกรรมในห้องเรียนได้อย่างเต็มที่เพื่อสร้างความอบอุ่น และอีกอย่างคือไม่ต้องอาบน้ำบ่อยด้วย ได้ประหยัดค่าน้ำไปในทางหนึ่ง

และที่สำคัญเพื่อนในห้องทุกคนเงียบและตั้งใจฟังอาจารย์อย่างนิ่งๆ อย่างน่าประหลาดใจเพราะความหนาวเย็น。สามารถแต่งตั้งให้ฤดูนี้เป็นฤดูแห่งความตั้งใจเรียน. อาจารย์สอนอย่างเต็มที่ทั้งให้ความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนแก่นักศึกษาไทย

มหาวิทยาลัยครูกว่างซี วิทยาเขตหวางเฉิง เป็นวิทยาเขตเก่าแก่ ว่ากันว่าเคยเป็นราชวังเก่า ก่อนที่จะเข้าไปต้องแสดงบัตรนิสิตถ้าไม่มีต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเยี่ยมชม ของเมืองกุ้ยหลินที่บรรยากาศแสนจะร่มรื่น เงียบสงบ เหมาะแก่การอ่านหนังสือ ช่วงก่อนสอบ ผมมักพาหนังสือวิชาจีนโบราณมาอ่าน ได้อารมณ์สุดๆ.

อาจารย์ที่ปรึกษาและการจับคู่บัดดี้ชาวจีน:

อาจารย์ที่ปรึกษาของผมคอยให้คำแนะนำและดูแลพฤติกรรมพวกเราที่มาจาก ม ทักษิณหลายเรื่องยุ่งๆที่ไม่เข้าใจก็ได้อาจารย์คอยให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำได้อย่างดี นอกจากนี้อาจารย์ได้จัดบัดดี้จีนให้กับพวกเรา ทำให้ผมได้มุมมองเเลกเปลี่ยนความคิดและภาษาซึ่งเป็นประโยชน์มากทำให้ผมพัฒนาทักษะภาษาจีนได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น.

เพื่อนต่างชาติและมิตรภาพ:

 เนื่องจากมหาวิทยาลัยครูกว่างซีเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพด้านการเรียนการสอนแห่งหนึ่งของจีนมีการสร้างความสัมพันธ์กับหลายประเทศทุกทวีปทั่วโลกทำให้นักศึกษาชาติต่างๆได้มีโอกาสและสนใจที่จะเข้ามาศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ มหาวิทยาลัยครูกว่างซีแห่งนี้ จนมีการก่อตั้งวิทยาลัยนานาชาติขึ้นมา ซึ่งเป็นตึกเรียนรวมที่ผมเรียนทุกวันโดยรวบรวมหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ตั้งแต่ระดับชั้นปริญญาตรี-ปริญญาเอก .ซึ่งปกติแล้วผมได้อยู่กับรูมเมทชาวโปแลนด์ตั้งแต่วันแรก นับเป็นโอกาสดีอีกทางหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพทางด้านภาษาอังกฤษของผม และทัศนคติใหม่ๆที่ดีในการดำรงชีวิตกับสังคมที่แตกต่าง กับเพื่อนต่างชาติที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างเข้าใจ. ,นอกจากรูมเมทชาวโปแลนด์แล้ว. ผมก็ไม่พลาดโอกาสที่จะผูกมิตรกับเพื่อนอีกหลายๆชาติมากมายไม่ว่าจะเป็น เพื่อนชาวไนจีเรียจากทวีปแอฟริกาซึ่งมาความเป็นมิตรมาก มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เพื่อนชาวรัสเซีย ซึ่งทำให้ผมชอบภาษารัสเซียมากขึ้น ได้สอนผมเรียนภาษารัสเซียทำให้ผมมีพื้นฐานภาษารัสเซียขึ้นอีกระดับหนึ่งจนสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้และสื่อสารระดับพื้นฐานได้ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่แสนจะคุ้มค่าสำหรับผมมากในการมาศึกษาครั้งนี้ นักศึกษาต่างชาติที่เยอะที่สุดคือนักศึกษาชาวเวียดนาม รองลงมาก็คือนักศึกษาไทยเราและอินโดนีเซียตามลำดับ.

pawit teacher.jpg

วันปิดภาคเรียนหรรษากับการอยู่กับครอบครัวชาวจีน.

เป็นวันปิดเทอมแรกของมหาวิทยาลัยในจีน ซึ่งเป็นเวลา 2 เดือนผมได้มีโอกาสได้ไปอยู่กับครอบครัวชาวจีน ณ มณฑลยูนนานซึ่งเป็นครอบครัวของบัดดี้ชาวจีนของผมเอง อยู่ในเมืองหลานชาน เป็นเมืองเล็กๆเมืองหนึ่งในมนฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน มาโดยการโดยสารเครื่องบินภายในประเทศซึ่งบัดดี้ชาวจีนได้ทำการจองตั๋วล่วงหน้าไปแค่คนละ200หยวน (หรือราว1,000บาท)ไทย .ไปถึงบ้านเพื่อนวันแรกก็เป็นธรรมดาที่ไม่คุ้นชินกับผู้คนบรรยากาศแต่พ่อและแม่บัดดี้ก็ใจดีมาก ท่านต้อนรับอย่างอบอุ่น พวกเขาใจดีมากที่ผมมาเที่ยวและใช้ชีวิตอยู่กับพวกเขาในช่วงปิดเทอม. ผมรู้สึกประทับใจมาก" ด้วยคำพูดที่ว่า “อยู่เหมือนบ้านตนเอง เพื่อนลูกก็รักเหมือนลูก ดูแลกันและกัน" ตลอดช่วงปิดเทอมผมใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างโดยได้สัมผัสจริงๆ กับชีวิต สังคมและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนที่นั่น,ส่วนใหญ่จะเป็นชนกลุ่มน้อยหลายชนเผ่าที่อยู่รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไต่ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่พูดไทยได้เปะมากก,ช่วงที่ผมชอบมากที่สุดคือ ก่อนวันปีใหม่จีน" ชุนเจี๋ " ประมาณช่วงเดือนกุมพาพันธ์ ล้ำค่าในการได้เรียนรู้ภาษาถิ่นที่นั่นและสัมผัสชีวิตและความเป็นอยู่จริงๆของชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ล้ำค่ามากสำหรับผม. สุดท้ายขอบคุณมหาวิทยาลัยทักษิณ วิชาเอกภาษาจีนที่มีโครงการดีๆแบบนี้ขึ้นมา ตลอด1ปีที่ผ่านมาผมไม่เพียงแต่ไดเรียนรู้เกือกทุกอย่างของสังคมวัฒนธรรมจีนเท่านั่น. ยังได้มิตรภาพกับเพื่อนต่างชาติต่างภาษาและต่างวัฒนธรรมได้มาอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนและเข้าใจกันได้ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก และเป็นความทรงจำที่แสนพิเศษและคุ้มค่าที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้และได้เข้ามาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยครูกว่างซีแห่งนี้.

calligraphy.jpgdance.jpgfest.jpgguilin.jpguniv.jpg

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่กำลังตัดสินใจไปเรียนต่างประเทศหรือไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศจีนนะครับ

เล่าเรื่องโดย

นาย ภาวิต หมัดแกแรต หลักสูตรภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยทักษิณ.

 

 

เนื้อหานี้ในภาษาอื่น