ม.อ.ร่วมกับ 4 ชุมชนพื้นที่ด่านนอก ตกผลึกแผนชุมชน พร้อมพัฒนา รับเขตเศรษฐกิจพิเศษ


6 ก.ย. 2561

ม.อ.นำตัวแทน 4 ชุมชนในพื้นที่ด่านนอก  ร่วมเวทีขับเคลื่อน ระดมความคิดแผนชุมชนเพื่อการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลาโดยภาคประชาชน   ร่วมพัฒนาชุมชน เตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา

IMG_9478.jpg

วันนี้ (6 กันยายน 2561)  ณ โรงแรมแกรนด์ โอลิเวอร์ ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีการจัดเวทีขับเคลื่อนแผนชุมชนเพื่อการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลาโดยภาคประชาชน ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา” โดยมี นายบุญภพ มะเดื่อ ปลัดอาวุโสอำเภอสะเดาเป็นประธานในงาน พร้อมด้วย รศ.ดร. มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ นายสมชาย ละอองพันธุ์ หัวหน้างานกลุ่มภารกิจสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา ร่วมเปิดงานในครั้งนี้

IMG_9509.jpg
รศ.ดร. มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายและประกาศให้ 4 ตำบลในเขตอำเภอสะเดา ได้แก่ ตำบลสำนักแต้ว ตำบลสำนักขาม ตำบลปาดังเบซาร์ และตำบลสะเดา เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีแผนงาน และโครงการกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงได้มีโครงการ “ส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา”

พร้อมการจัดเวทีขับเคลื่อนแผนชุมชนเพื่อการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลาโดยภาคประชาชน ขึ้น ซึ่งเราได้จัดโครงการนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ถึงเดือนกันยายน 2561 โดยเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , ภาคเอกชน , อาสาสมัครชุมชนและภาคประชาชน ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตนเอง  เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รับรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และสามารถกำหนดแผนชุมชน กำหนดอนาคตการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงจากนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษได้

โดยผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่เกิดขึ้น จะทำให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบาย ความก้าวหน้าของกิจกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มมากขึ้น เกิดความตื่นตัว รวมไปถึงความร่วมมือในกระบวนการคิดที่จะนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ แผนชุมชนจำนวน 4 ฉบับ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะส่งมอบแผนงานให้แก่พื้นที่นั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยศูนย์บริการวิชาการ จะยังคงร่วมผลักดันส่งต่อแผนชุมชนทั้ง 4 ฉบับ เข้ารับการพิจารณาในระดับจังหวัดและหน่วยงานกำกับดูแลนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ต่อไป  เพื่อให้เกิดแผนชุมชนที่ตรงกับความต้องการของประชาชน และชุมชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง   

IMG_9438.jpgIMG_9442.jpgIMG_9473.jpgIMG_9487.jpgIMG_9506.jpgIMG_9508.jpg