มรภ.สงขลา ชู อาจารย์ที่ปรึกษา กัลยาณมิตรคู่คิดผู้เรียน ช่วยชี้ทางใช้ชีวิตในรั้วมหาลัย


6 ก.ย. 2561

มรภ.สงขลา ชูบทบาทอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นกัลยาณมิตรคู่คิดผู้เรียน ดูแลช่วยเหลือดุจพ่อแม่คนที่สอง พร้อมแนะแนวทางปรับตัวใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย พัฒนาสู่บัณฑิตคุณภาพ

1529564235_8584.jpg

นายสกรรจ์ รอดคล้าย รักษาการผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ผู้เสนอโครงการสัมมนาอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาใหม่ เปิดเผยว่า การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่มีความสำคัญต่อชีวิตการเป็นนักศึกษา การปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมทั้งในด้านการเรียน การคบเพื่อน หรือในด้านความเป็นอยู่ โดยพบว่านักศึกษามักประสบความยุ่งยากในการปรับตัว เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต อาจนำมาซึ่งปัญหาและการสูญเสียทรัพยากรบุคคลอันมีค่า อาทิ ปัญหาการทำร้ายตนเอง การทำร้ายบุคคลอื่น ปัญหาการฆ่าตัวตายที่เป็นผลจากความเครียด หรือภาวะจิตใจที่สับสนหาทางออกไม่ได้ ขาดที่ปรึกษา จึงทำให้เกิดเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจ กลุ่มบุคคลที่ประสบภาวะนี้ส่วนใหญ่ เป็นนักศึกษาซึ่งอยู่ในวัยเรียนระดับอุดมศึกษา 

               นายสกรรจ์ กล่าวว่า กองพัฒนานักศึกษาเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ จึงจัดทำโครงการสัมมนาอาจารย์ที่ปรึกษาขึ้น เนื่องจากตระหนักว่าบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษานอกจากการสอนทางวิชาการแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญและมีคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนานักศึกษา คือการเป็นกัลยาณมิตร คู่คิดนักศึกษา คอยส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระยะทางที่อาจารย์ที่ปรึกษาก้าวเข้ามา อาจเจอกับอุปสรรค์ในการดำเนินงานมากมาย อาจทำให้เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย หรือไม่กล้าดำเนินการใดๆ ผลกระทบเหล่านี้จะส่งผลให้นักศึกษาเคว้งคว้างขาดที่พึ่ง และสุดท้ายอาจหาทางออกโดยการลาออก หรือไม่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรได้

                “โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษาทราบถึงบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของตนเอง สามารถทำความเข้าใจและยอมรับทั้งสิ่งที่เป็นด้านบวกและด้านลบ สร้างความเข้าใจเรียนรู้ ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก เข้าใจว่าธรรมชาติของการทำงานหรือการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ย่อมมีปัญหาหรืออุปสรรคเกิดขึ้นควบคู่กัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 สามารถส่งเสริมการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตให้เป็นคนดี มีทักษะชีวิต มีจิตสาธารณะ” รักษาการผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา กล่าว
                ด้าน นางไปยดา สุตระ นักแนะแนวการศึกษาและอาชีพ กองพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา กล่าวว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยให้อาจารย์ที่ปรึกษามีความคิดเชิงบวกในการปฏิบัติงาน และเห็นถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือนักศึกษา ขณะเดียวกันนักศึกษาก็ได้รับการดูแลและได้รับการให้คำปรึกษาที่ดีขึ้น โดยกองพัฒนานักศึกษาได้เชิญ ผศ.ดร.จันทร์วิภา ดิลกสัมพันธ์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มาบรรยายเรื่องอาจารย์ที่ปรึกษาในศตวรรษที่ 21 พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติในหัวข้อเทคนิคการให้คำปรึกษานักศึกษา นอกจากนั้น ยังมีการบรรยายเรื่องนโยบายและความคาดหวังในการดำเนินงานด้านอาจารย์ที่ปรึกษา โดย นางสาวจิรภา คงเขียว  รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนานักศึกษาและคุณลักษณะบัณฑิต แนวโน้มและสภาพปัญหาด้านงานวิชาการ วิทยากรโดย ดร.ฐปนพัฒน์ ปรัชญาเมธีธรรม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มรภ.สงขลา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาชั้นปีที่ 1 เข้าร่วมสัมมนาราว 100 คน

                นางไปยดา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลนักศึกษาจำนวนหนึ่งอย่างใกล้ชิดเสมือนพ่อแม่คนที่สอง ซึ่งต้องให้ความรักความอบอุ่นให้คำปรึกษาและให้กำลังใจโดยการอบรมสั่งสอน ช่วยเสริมสร้างให้มีความรู้คู่คุณธรรม เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน สามารถพัฒนาตนไปในทิศทางที่ถูกต้อง และปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมอย่างมีความสุข อาจารย์ที่ปรึกษาจึงต้องรู้จักและเข้าใจนักศึกษาแต่ละคนเป็นอย่างดี ตั้งแต่ภูมิหลังทางบ้าน ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว สังคมส่วนตัว สังคมรอบด้าน บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย ประวัติการเรียนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ความฝันความคาดหวังในอนาคต โดยเฉพาะปัญหาและความต้องการของนักศึกษาแต่ละคน เพื่อช่วยหาแนวทางในการช่วยเหลือและพัฒนาให้สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ

DSC_5629.JPGDSC_5653.JPGDSC_5662.JPGDSC_5699.JPGDSC_5705.JPG

ข่าวโดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)