คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. อบรมด้านโรคหัวใจ เร่งผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มโอกาสการรักษาให้กับผู้ป่วย


1 พ.ย. 2561

คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. พัฒนาอีกขั้น เปิดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านโรคหัวใจ เร่งผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มโอกาสการรักษาให้กับผู้ป่วย เผยวิธีการรักษาการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารี่โดยไม่ต้องผ่าตัด ณ ปัจจุบันทำได้แค่ 2 แห่งเท่านั้น ศูนย์โรคหัวใจฯ รพ.ม.อ.เป็นหนึ่งในนั้น

page.jpg

วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2561) ณ ศูนย์โรคหัวใจฯ ม.อ. อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับโรคหัวใจพัลโมนารี่ตีบชนิดรุนแรง  หรือ "Percutaneous Pulmonary Value Implantation  : PPVI" โดยมี รศ.นพ.พุฒิศักดิ์  พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ , ผศ.พญ.สุภาพร โรยมณี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และกิจกรรมพิเศษ และรองผู้อำนวยการศูนย์โรคหัวใจฯ ,ทีมแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมอบรมในครั้งนี้

นับเป็นอีกขั้นของการพัฒนาด้านการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ที่จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับโรคหัวใจพัลโมนารี่ตีบชนิดรุนแรง  หรือ "Percutaneous Pulmonary Value Implantation  : PPVI" ขึ้นในวันที่ 1 – 2 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์โรคหัวใจนราธิวาสราชนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเป็นการเผยแพร่ทักษะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และพัฒนาการเรียนรู้ให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ และพยาบาลห้องสวนหัวใจในภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีนี้มีการพัฒนาจนเป็นที่แพร่หลาย มีสถาบันทางการแพทย์ในประเทศไทยที่สามารถให้การรักษาการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารี่โดยไม่ต้องผ่าตัด เพียง 2 แห่ง คือในส่วนกลาง และแห่งที่สองคือโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

IMG_0238.jpg

รศ.นพ.พุฒิศักดิ์  พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว จัดขึ้นด้วยความตั้งใจและเป็นความมุ่งมั่นของทีมแพทย์ศูนย์โรคหัวใจนราธิวาสราชนครินทร์ ที่เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาการรักษาผู้ป่วยด้านโรคหัวใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ที่มีโอกาสในการหายจากโรคสูง หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและต่อเนื่อง  ซึ่งการอบรบในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ 2 ด้าน ทั้งในด้านของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะได้พัฒนาศักยภาพความเชี่ยวชาญ พร้อมเข้าใจแนวทางในการรักษา การเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีผ่านสายสวนเพิ่มมากขึ้น และในส่วนของผู้ป่วย เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจพัลโมนารีตีบในกลุ่มโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่มีความซับซ้อน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหัวใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย

IMG_0249.jpg

รศ.นพ.พุฒิศักดิ์  พุทธวิบูลย์

หากเรามีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่า ผู้ป่วยจะมีโอกาสที่จะได้รับการรักษาเร็วขึ้น ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นเดียวกัน  ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ เล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ จึงสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นมา นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงความร่วมมือไปยังต่างประเทศ โดยมีการจัดโครงการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์โรคหัวใจนราธิวาสราชนครินทร์ ไปยังประเทศเวียดนามและประเทศจีน ในช่วงเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาโครงข่ายความสัมพันธ์ ความร่วมมือกับแพทย์ในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย

ด้าน ผศ.พญ.สุภาพร โรยมณี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และกิจกรรมพิเศษ และรองผู้อำนวยการศูนย์โรคหัวใจฯ เปิดเผยว่า โรคหัวใจพัลโมนารี่ตีบชนิดรุนแรงมักจะเกิดร่วมกันในผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แต่เทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบันมีความทันสมัยมากขึ้น ลดภาวะเสี่ยงและการผ่าตัดซ้ำโดยเฉพาะคนไข้หัวใจพิการแต่กำเนิดที่เคยรับการผ่าตัดหัวใจมาแล้วสามารถรักษาผ่านสายสวนหัวใจได้ซึ่งถือเป็นวิธีการรักษาที่มีมาตรฐาน มีความปลอดภัยสูง ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัดซ้ำเหมือนที่ผ่านมา มีความเจ็บปวดน้อยกว่า และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งศูนย์โรคหัวใจนราธิวาสราชนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นศูนย์หนึ่งใน excellent center ของประเทศไทย ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีทีมงานที่มีศักยภาพในการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "Percutaneous Pulmonary Value Implantation  : PPVI" ขึ้น แก่กุมารแพทย์โรคหัวใจและอายุรแพทย์โรคหัวใจด้าน Congenitalcardiac intervention , Structural cardiac intervention และพยาบาลห้องสวนหัวใจ  เพื่อเป็นการเผยแพร่ทักษะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พัฒนาการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพในการรักษาโรคลิ้นหัวใจพัลโมนารีตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด ให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ และพยาบาลห้องสวนหัวใจในภาคใต้ เพื่อที่จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ

IMG_0254.jpg

ผศ.พญ.สุภาพร โรยมณี

IMG_0239.jpgIMG_0263.jpgIMG_0271.jpgIMG_0275.jpgIMG_0289.jpg