รองผู้ว่าฯ สงขลา มอบหนังสือสำคัญแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมวิทยากรเผยแพร่ภาษาไทยในจังหวัดชายแดนใต้


15 พ.ย. 2561

รองผู้ว่าฯ สงขลา มอบหนังสือสำคัญแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมวิทยากรเผยแพร่ภาษาไทยในจังหวัดชายแดนใต้ มุ่งส่งเสริมวิทยากรกระบวนการใช้ภาษาไทยเป็นสื่อในการนำความรู้ และวิธีการต่าง ๆ ถ่ายทอดสู่ประชาชนให้เกิดทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิต

IMG_7002.jpg

วันนี้ (15 พ.ย. 61) ที่ โรงแรมไดอิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือสำคัญแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมวิทยากรเผยแพร่ภาษาไทยในจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานโดยพร้อมเพรียงกัน

นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การใช้ภาษา เป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติ จึงขอให้ผู้เข้าอบรมได้ทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการใช้ภาษาไทยเป็นสื่อในการนำความรู้ และวิธีการต่าง ๆ ถ่ายทอดสู่ประชาชนให้เกิดทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัว ชุมชน ตลอดจนหมู่บ้านได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

ร้อยเอก จักเรศ พิทยาคม ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคงภายใน กล่าวว่า กรมการปกครอง ได้ดำเนินโครงการเผยแพร่การใช้ภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2528 เพื่อฝึกฝนให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาสใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเพิ่มเติมจากภาษาถิ่น และต่อมาได้พัฒนาไปสู่การนำนโยบายต่าง ๆ มาถ่ายทอดสู่ประชาชน โดยใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนเกิดทักษะ และสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างมั่นใจ

สำหรับการฝึกอบรมวิทยากรเผยแพร่ภาษาไทยในครั้งนี้ เรียกว่า “วิทยากร 3 ประสาน” ประกอบด้วยครูอาสาสังกัดศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน และบัณฑิตอาสาที่ปฎิบัติงานในตำบล/หมู่บ้าน ทั้งสิ้น จำนวน72 คน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับวิทยากรเผยแพร่ภาษาไทยในลักษณะของวิทยากรกระบวนการ ก่อนที่จะออกไปดำเนินการใช้ภาษาไทยเป็นสื่อในการสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนในหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ และสามารถนำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในการแก้ไขปัญหา พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยจัดอบรมขึ้นระหว่างวันที่12 -15 พฤศจิกายน 2561 เป็นหลักสูตรแบบเข้มและเร่งรัด ที่เน้นทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ อาทิ ความรู้เกี่ยวกับวิทยากรกระบวนการ , หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง , โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ , การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการป้องกันยาเสพติด มาเป็นประเด็นหลักในการฝึก ซึ่งหลังจากนี้ผู้ผ่านการอบรมจะออกไปดำเนินการใช้ภาษาไทยเป็นสื่อในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชนระดับหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส อำเภอละ 1 จุดสอน สอนรวม 24 จุดสอน เป็นเวลา 35 วัน วันละ 2 ชั่วโมง รวม 70 ชั่วโมง โดยทุกจุดสอนจะเริ่มปฏิบัติงานในพื้นที่พร้อมกัน ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

IMG_6980.jpgIMG_6998.jpgIMG_7024.jpgIMG_7006.jpg

ข่าวโดย สุธิดา พฤกษ์อุดม / สวท.สงขลา รายงาน 15 พ.ย.61