ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนธันวาคม 2561


10 ม.ค. 2562

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนธันวาคม 2561

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงของความสุขโดยรวมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

002.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนธันวาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ด้านภาวการณ์ทางสังคมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านภาวการณ์ทางสังคมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ความมั่นคงในอาชีพ การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมือง โดยมีปัจจัยบวกจากบรรยากาศการเตรียมตัวเดินทางท่องเที่ยวและเลี้ยงฉลองสังสรรค์พบปะญาติพี่น้องในช่วงเทศกาลปีใหม่ และนโยบายของรัฐบาลที่ช่วยเหลือประชาชนด้วยการลดภาระค่าครองชีพ โดยปรับลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดลง 1 บาท รวมทั้ง บรรยากาศการหาเสียงของนักการเมืองที่เริ่มลงพื้นที่พบปะและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงความชัดเจนของการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น  ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพราะปัจจัยลบอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ปล้นปืนเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยโรงเรียนบ้านเสือดัง จังหวัดปัตตานี ในช่วงคืนวันที่ 23 ธันวาคม เพื่อเตรียมนำไปก่อเหตุ  รวมถึงการวางระเบิดบริเวณชายหาด แหลมสมิหลา จังหวัดสงขลา บริเวณรูปปั้นนางเงือก และรูปปั้นหนูกับแมว จำนวน 5 ลูก ในคืนวันที่ 26 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าความสุขในการดำเนินชีวิต และฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 37.40 และ 41.60 ตามลำดับ นอกจากนี้ การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 31.70 และ 34.10 โดยปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อความสุขในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาพืชผลทางการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 30.20 รองลงมา คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 26.10