สคร.12 สงขลา แนะสังเกตสัญญาณอันตรายโรคไข้เลือดออก หลังจากไข้ลด
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศพบจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยประเทศไทย เข้าสู่ฤดูฝนทำให้มีแหล่งวางไข่ของยุงลายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากพบมีอาการไข้สูงลอย 2-7 วัน และหลังจากไข้ลด มีอาการปวดท้องข้างขวา คลื่นไส้ เบื่ออาหาร และมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนัง อย่าซื้อยากินเอง แนะนำให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว พร้อมแนะประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
.webp)
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึง สถานการณ์โรคไข้เลือดออก วันที่ 1 ม.ค.-26 ก.ค. 2566 (กองระบาดวิทยา) ประเทศไทยพบผู้ป่วย 46,855 ราย เสียชีวิต 41 ราย เขตสุขภาพที่ 12 พบผู้ป่วย 5,814 ราย เสียชีวิต 7 ราย ในรายที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ได้รับการรักษาช้า และรักษาด้วยการซื้อยากินเองอยู่ที่บ้าน โรคไข้เลือดออก อันตรายกว่าที่คิด เน้นย้ำ ประชาชนสังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไข้สูงลอย 2 - 7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย หน้าแดง ตาแดง และหลังจากไข้ลดมีอาการปวดท้องข้างขวา คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีเลือดออกตามไรฟัน มีผื่นจ้ำเลือดใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขน ขา ข้อพับ หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และเน้นย้ำ ไม่ซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวดกลุ่มไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก เป็นต้น อาจทำให้มีอาการรุนแรงแทรกซ้อนและเลือดออกมากขึ้น ส่งผลให้เสียชีวิตได้ สำหรับร้านขายยาและคลินิก หากสงสัยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไม่จ่ายยาแก้ปวดกลุ่มไม่ใช่สเตียรอยด์ และแนะให้ผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา กล่าวเพิ่มเติม แนะนำประชาชน 2 อย่า “อย่าให้ยุงกัด อย่าให้ยุงเกิด” อย่าให้ยุงกัดด้วยการนอนกางมุ้งหรืออยู่ในห้องติดมุ้งลวด ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ทาโลชั่นกันยุง ใช้ยาจุดกันยุง และอย่าให้ยุงเกิดด้วยมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 1) เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก จัดเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้ให้เป็นระเบียบ 2) เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น เศษภาชนะ เศษวัสดุที่ทิ้งไว้รอบๆ บ้าน เช่น กะลา กระป๋อง ถุงพลาสติก ควรเก็บทิ้งหรือฝังดินไม่ให้มีน้ำขัง ยางรถยนต์เก่า สามารถดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์หรือขายให้สถานประกอบการ และ 3) เก็บน้ำ ภาชนะบรรจุน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ปิดฝาให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ สามารถป้องกันได้ทั้ง โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก หรือโรคติดต่ออื่นๆ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422