ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนธันวาคม 2561


10 ม.ค. 2562

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนธันวาคม 2561

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

003.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนธันวาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว โดยมีปัจจัยบวกจากนโยบายของรัฐบาลได้แก่ มาตรการช็อปช่วยชาติ ที่กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้เริ่มวันที่ 4 ธ.ค.2561 - 4 ม.ค. 2562 รวมถึงการประกาศลดราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิดลิตรละ 1 บาท ตั้งแต่ 25 ธ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 17 เดือน รวมถึงการลดอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 50 สตางค์ต่อลิตร และให้ผู้ค้าลดราคาน้ำมันอีก 50 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทำให้ค่าครองชีพของประชนชนลดลง และสามารถใช้จ่ายในเทศกาลปีใหม่เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 39.60 และ 32.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.50 และ 42.70 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพคิดเป็นร้อยละ 26.10 รองลงมา คือ ราคาพืชผลทางการเกษตร และราคาสินค้า คิดเป็นร้อยละ 23.80 และ 12.10 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ราคาพืชผลทางการเกษตร รองลงมา คือ ค่าครองชีพ ตามลำดับ