เครือข่ายนักวิชาการใต้ สนับสนุนข้อเรียกร้องเครือข่ายปกป้อง ดิน น้ำ ป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง


29 ม.ค. 2562

แถลงการณ์ด่วน สนับสนุนข้อเรียกร้องเครือข่ายปกป้อง ดิน น้ำ ป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง โดย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ 

80.jpg

ตามที่เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง ได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการประตูกั้นน้ำคลองปากประ จ.พัทลุง โครงการการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จังหวัดพัทลุง โครงการเขื่อนคลองสังข์ อ.ทุ่งใหญ่ โครงการเขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง และโครงการคลองผันน้ำเมืองนครศรีธรรมราช     จ.นครศรีธรรมราช มาตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2562 นั้น 

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการ นักวิจัย ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของภาคใต้ ได้ติดตามยุทธศาสตร์ นโยบาย แผน และโครงการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าการดำเนินโครงการในข้างต้นเป็นไปอย่างรวบรัดและเร่งรีบ โดยใช้ฐานคิดในการจัดการทรัพยากรและการบริหารจัดการน้ำแบบเดิม ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่คำนึงถึงความคุ้มค่า คุณค่า และประโยชน์สูงสุดที่มีต่อประชาชน 

รวมถึงการปฏิเสธทางเลือกใหม่ๆ ที่เป็นไปได้ในการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำที่มุ่งตอบความต้องการของประชาชน มีความมั่นคงทางสังคม สร้างความยั่งยืนทางนิเวศ นอกจากนี้ การดำเนินโครงการยังได้กีดกันประชาชนออกจาก “กระบวนการตัดสินใจ” โดยการแอบอ้าง บิดเบือนข้อมูล ทำให้ประชาชนเกิดความไขว้เขว สับสนมาโดยตลอด

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ จึงขอสนับสนุนจุดยืนและข้อเรียกร้องเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง และมีข้อเรียกร้องดังนี้

ให้ “ยุติการดำเนินโครงการ” ประตูกั้นน้ำคลองปากประ จ.พัทลุง โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จังหวัดพัทลุง โครงการเขื่อนคลองสังข์ อ.ทุ่งใหญ่ โครงการเขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง และโครงการคลองผันน้ำเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราช และให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนได้รับทราบ ได้แสดงความคิดเห็นและสามารถเสนอทางเลือกอันหลากหลายในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรอย่างยั่งยืน

ส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรเชิงระบบ ที่ตั้งอยู่บนฐานความยั่งยืนทางนิเวศ ภูมิปัญญา ภูมินิเวศ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรในระยะยาว

ให้ “ทบทวนการดำเนินโยบายและโครงการพัฒนาในภาคใต้” ที่อาจก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิมนุษยชน ความสุขและความมั่นคงของชุมชน และให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง
 81.jpg
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ 
28 มกราคม 2562