ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2562


4 ก.พ. 2562

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2562

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

002.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ พบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมลดลง คิดเป็นร้อยละ 27.10 และคาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 39.60  เนื่องจากมองว่าอาจจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารงานด้านเศรษฐกิจ และน่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น  ในส่วนรายได้จากการทำงาน ประชาชนมีความคิดเห็นว่า เพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 26.80

ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มราชการ รัฐวิสาหกิจ และพนักงานบริษัท ในขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งมีความคิดเห็นว่า รายได้จากการทำงานลดลง คิดเป็นร้อยละ 17.90  ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ  ทั้งนี้ ประชาชนคาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้ารายได้จากการทำงานจะดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.80 โดยประชาชนมีความคาดหวังว่านโยบายของรัฐบาลจะช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น อันจะส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

เมื่อพิจารณาถึงรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว ประชาชนมีความคิดเห็นว่า เพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 28.10 โดยเป็นรายจ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคเพื่อเลี้ยงฉลองในช่วงปีใหม่  ในขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งมีความคิดเห็นเกี่ยวกับรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัวลดลง คิดเป็นร้อยละ 17.70  ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงจากการประกอบอาชีพ จึงจำเป็นต้องประหยัดมากขึ้น 

ทั้งนี้ ประชาชนคาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้ารายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัวจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.60  นอกจากนี้ ประชาชนมีความคิดเห็นว่า รายจ่ายด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 26.90  ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่และได้ใช้จ่ายเงินกับการท่องเที่ยว  และคาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้ารายจ่ายด้านการท่องเที่ยวจะดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.50 ทั้งนี้เพราะใน 3 เดือนข้างหน้ามีช่วงวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ และได้วางแผนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยว 

เมื่อพิจารณาถึงฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ประชาชนมีความคิดเห็นว่าดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 24.10  ในขณะฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ของประชาชนลดลง คิดเป็นร้อยละ 20.60  โดยประชาชนกลุ่มนี้มีรายได้ไม่เพียงกับรายจ่าย และมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ  ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะมีฐานะการเงินดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.40   นอกจากนี้ ประชาชนมีความเห็นว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอยู่ในระดับลดลง คิดเป็นร้อยละ 26.50 โดยมองว่ารัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ยังไม่ตรงประเด็น แต่คาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับที่ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 35.40  เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

               

ในส่วนผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านสังคม ประชาชนมีความคิดเห็นว่า ความสุขในการดำเนินชีวิตเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 27.60  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่ทำงานประจำที่ได้ปรับเงินเดือน ได้รับโบนัส และได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น กับประชาชนที่ได้เดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่  และคาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะมีความสุขเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 38.60 เนื่องจากคาดหวังว่าประเทศไทยน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น 

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลง คิดเป็นร้อยละ 25.60 เป็นเพราะในช่วงปีใหม่มีประชาชนส่วนหนึ่งได้รับอุบัติเหตุจากการเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 42.70  เมื่อพิจารณาถึงการแก้ปัญหายาเสพติด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าการแก้ปัญหายาเสพติดเท่าเดิม คิดเป็นร้อยละ 52.40 ในขณะที่ส่วนหนึ่งมองว่าการแก้ปัญหายาเสพติดเริ่มดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 23.70  เนื่องจากคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหายาเสพติด จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วน และทำการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง และคาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าการแก้ปัญหายาเสพติดจะดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 34.10  

นอกจากนี้ ประชาชนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง คิดเป็นร้อยละ 35.30 เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สังหารพระภิกษะสองรูป และได้รับบาดเจ็บอีกสองรูปในจังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา แต่คาดการณ์ว่าการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 37.10            

                ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพคิดเป็นร้อยละ 28.50 รองลงมา คือ ราคาพืชผลทางการเกษตร และราคาสินค้า คิดเป็นร้อยละ 23.90 และ 17.80 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตามลำดับ