ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกุมภาพันธ์ 2562


1 มี.ค. 2562

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผศ.ดร.วิวัฒน์จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม ดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงานรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สาเหตุที่ดัชนีมีการปรับตัวลดลงส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าอยู่ที่ 31.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.พ. 2562) ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 5 ปี แม้ว่าแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทจะสอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค แต่ก็ถือว่าเป็นการแข็งค่าที่เร็วมากจนปรับตัวไม่ทัน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย และการเข้ามาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติด้วย ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือน ก.พ. นี้ยางพาราเริ่มผลัดใบ ทำให้ชาวสวนยางไม่สามารถกรีดยางได้เต็มที่อีกทั้ง ราคาปาล์มน้ำมันลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการ และยังมีปริมาณส่วนเกินอยู่มากซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้นอกจากนี้ ประชาชนยังจับตามองและรอผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 2562 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เนื่องจากนโยบายของแต่ละพรรคมีความแตกต่างกัน ดังนั้น พรรคที่เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลย่อมผลักดันนโยบายไปในทิศทางที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนของภาคเอกชนและการลงทุนของต่างชาติ รวมถึงส่งผลต่อความต่อเนื่องของโครงการลงทุนภาครัฐที่กำลังจะดำเนินการ และดำเนินการไปแล้วอย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ยังรอด้วยความหวังว่ารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะนำพาประเทศไทยให้มีความเจริญรุ่งเรือง ความสงบเรียบร้อย และทำให้ประชาชนมีความสุขอย่างแท้จริง

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.60 และ 37.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 43.20 และ 35.30 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 35.40 41.60 และ 37.50 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพคิดเป็นร้อยละ 28.50 รองลงมา คือ ราคาพืชผลทางการเกษตร และราคาสินค้า คิดเป็นร้อยละ 23.90 และ 17.80 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตามลำดับ