ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมีนาคม 2562


2 เม.ย. 2562

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมีนาคม 2562

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผศ.ดร.วิวัฒน์จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งประเทศในวันอาทิตย์ ที่ 24 มีนาคม ที่ดำเนินการสำเร็จทำให้เกิดความน่าเชื่อถือต่อนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติในการลงทุนและดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่คาดหวังว่า หลังจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลใหม่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ธุรกิจ การค้าขาย และรายได้ของประชาชนให้ดีขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังคงกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด และขั้วการเมืองใดจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อีกทั้งรัฐบาลใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีเสถียรภาพทางการเมืองมากน้อยเพียงใดโดยประชาชนมีความต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำของรายได้และชนชั้น ความขัดแย้งของคนในประเทศ และทำให้คนไทยกินดีอยู่ดี มีความสุขอย่างแท้จริง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากผลผลิตการเกษตรของประชาชนซึ่งผลิตได้น้อย เนื่องจากสภาวะแห้งแล้งติดต่อกันหลายเดือนทำให้รายได้ของประชาชนลดลง ส่งผลต่อการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนน้อยลง นอกจากนี้ ปัญหาเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดในจังหวัดสตูลและพัทลุงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง เนื่องจากประชาชนคาดว่าอาจจะเป็นเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งผลการสอบสวนที่ชัดเจนของภาครัฐจะทำให้ประชาชนคลายความกังวลลงได้

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 34.10 และ 35.40 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 37.10 และ 34.50 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.20 34.20 และ 35.80 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 27.20 รองลงมา คือ ราคาสินค้า และราคาพืชผลทางการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 25.10 และ 14.90 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้า ตามลำดับ