การเงินน่ารู้กับ ธปท.ใต้ ตอน เงินฝากออมทรัพย์คุ้มครองชีวิต ฝากชีวิตได้แค่ไหน ?


25 เม.ย. 2562

เงินฝากออมทรัพย์คุ้มครองชีวิต ฝากชีวิตได้แค่ไหน ?

หลังจากที่แบงก์ชาติประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 1.75 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่จะตามมาในไม่ช้าคือการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของสถาบันการเงิน ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ฝากเงินและยังจูงใจให้ประชาชนนำเงินไปฝากเพิ่มขึ้นด้วยครับ ทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลายและมีเงื่อนไขการฝากที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะมีบางประเภทที่ให้สิทธิประโยชน์บางอย่างแก่ผู้ฝากเงิน อย่างเช่น การให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ก้าวทันผลิตภัณฑ์ทางการเงินฉบับนี้ จึงขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักบัญชีเงินฝากที่ให้ความคุ้มครองชีวิตครับ

ผู้ฝากไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันแต่มีเงื่อนไขบางประการที่ต้องทราบ ลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์นี้คือผู้ฝากไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน และธนาคารบางแห่งให้ความคุ้มครองในวงเงินที่สูงมากเลยทีเดียว เช่น ชดเชยให้ 25 เท่า ของเงินฝากคงเหลือในบัญชี ซึ่งวงเงินนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละผู้ให้บริการครับ ทั้งนี้ ธนาคารได้กำหนดเงื่อนไขแก่ผู้ที่จะมาเปิดบัญชีไว้ด้วย อย่างเช่น (1) กำหนดยอดเงินฝากเริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักแสนเป็นอย่างต่ำ (2) กำหนดอายุผู้เปิดบัญชีตั้งแต่ 15-69 ปี (3) จำกัดอาชีพที่ต้องไม่เสี่ยงอันตราย ถ้าคุณขับรถจักรยานยนตร์รับจ้างหรือเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารที่ออกปฏิบัติหน้าที่ ก็อาจจะยังไม่เหมาะกับผลิตภัณฑ์นี้ (4) ผู้เปิดบัญชีจะต้องมีสุขภาพดีไม่เป็นโรคร้ายแรงด้วยนะครับจึงจะมีสิทธิเปิดบัญชีนี้ได้ หากมองในมุมของสถาบันการเงินเอง เขาต้องการลดความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดภาระต้นทุนในการให้บริการที่มากเกินไป เพราะถ้าคนที่มีความเสี่ยงมาใช้บริการกันเยอะ นั่นหมายความว่าธนาคารมีโอกาสสูงที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ฝากเงินเมื่อเกิดอุบัติเหตุนั่นเองครับ

เงินฝากได้รับความคุ้มครอง ถอนโอนจ่ายได้ตลอดเวลา บัญชีเงินฝากคุ้มครองชีวิตเป็นบัญชีออมทรัพย์อย่างหนึ่ง เงินที่คุณฝากจึงได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากตามจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งยังมีความคล่องตัวในการถอนโอนจ่ายได้ตลอดเวลา และบางธนาคารยังสามารถใช้บริการร่วมกับบัตรเดบิต และ Mobile App ได้ด้วยครับ

คุ้มครองอุบัติเหตุบางกรณี ปัจจุบันมีสถาบันการเงินหลายแห่งที่ให้บริการบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่คุ้มครองชีวิต เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดพบว่าความคุ้มครองหลักๆที่มีเหมือนกันคือ จะให้ความคุ้มครองในกรณีที่เจ้าของบัญชีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ และสูญเสียอวัยวะเท่านั้น นั่นหมายความว่าถ้าคุณเปิดบัญชีนี้แล้วเจ็บป่วยหรือถูกทำร้ายจนเสียชีวิตก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองครับ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับประกันอุบัติเหตุ และส่วนมากไม่คุ้มครองอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่ หรือโดยสารรถจักรยานยนต์นะครับ รวมทั้งไม่สามารถเคลมค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุได้แต่อย่างใด

หากท่านผู้อ่านพิจารณาให้ดีจะพบว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินไหนที่จะตอบสนองได้ครบทุกเป้าหมายในผลิตภัณฑ์เดียว เพราะสินค้าทางการเงินแต่ละอย่างมีวัตถุประสงค์เฉพาะในตัวเอง อย่างเช่น เงินฝากออมทรัพย์ มีหน้าที่ไว้ฝากเงินแบบครั้งคราวมีสภาพคล่องสูงฝากถอนได้ตลอดเวลา จึงไว้เป็นที่เก็บเงินสำหรับเงินที่ต้องใช้จ่ายประจำ ส่วนการทำประกัน มีไว้สำหรับลดความเสี่ยงทางด้านการเงิน ซึ่งแทบจะไม่มีความคล่องตัวในการถอนเงินออกมาใช้ได้เลยครับ ดังนั้น หน้าที่หลักของเงินฝากคุ้มครองชีวิตก็คือไว้สำหรับเก็บออมเงิน ส่วนการให้ความคุ้มครองนั้น เป็นเสมือนสิทธิประโยชน์ที่เสริมเข้ามาเพื่อจูงใจแก่ผู้ฝากเงิน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ฝากเงินสามารถใช้บริการได้ แต่ถ้าต้องการที่จะลดความเสี่ยงทางการเงินจริงๆ การทำประกันโดยตรงน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าครับ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝาก ประกัน หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใดๆก็ตาม ควรศึกษารายละเอียดให้เข้าใจก่อนตัดสินใจสมัครใช้บริการ

ในช่วงที่ธนาคารแต่ละแห่งกำลังทยอยขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากแบบนี้ หากอยากรู้ว่าธนาคารไหนให้ผลตอบแทนดี เว็บไซต์ ศคง. www.1213.or.th มีคำตอบรอคุณอยู่นะครับ เข้าไปเปรียบเทียบกันได้ทั้งเงินฝาก สินเชื่อ ไปจนถึงค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต บัตรเดบิต เลือกดูได้ทุกสถาบันการเงินเลยทีเดียวครับ

ผู้จัดทำ : สุรเชษฐ์ ศรีภูริรักษ์

ผู้วิเคราะห์ ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย