การเงินน่ารู้กับ ธปท.ใต้ ตอน โกงเงินรูปแบบใหม่ โอนเงินหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่นาที


25 เม.ย. 2562

โกงเงินรูปแบบใหม่ โอนเงินหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่นาที

ในปัจจุบันมีคนร้ายใช้กลโกงรูปแบบใหม่ ทำให้เงินในบัญชีของผู้เสียหายถูกโอนออกไปจนหมดภายในระยะเวลาไม่กี่นาที ด้วยช่องทางกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์และ Mobile Banking ก้าวทันผลิตภัณฑ์ทางการเงินฉบับนี้ จึงขอชวนท่านผู้อ่านมารู้ทันกลโกงนี้พร้อมวิธีในการป้องกันครับ

Facebook กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า กลโกงรูปแบบใหม่นี้ผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นผู้ขายสินค้าออนไลน์ที่เปิดเผยเลขบัญชีธนาคารและข้อมูลบัตรประชาชน โดยคนร้ายมักเข้ามาทำทีเป็นลูกค้าขอซื้อสินค้าออนไลน์ และขอเลขประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ ในบัตรประชาชนของผู้เสียหาย โดยคนร้ายจะนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านั้นไปเปิดบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) และตั้งค่าให้เชื่อมเข้ากับบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย จากนั้น ผู้เสียหายจะได้รับการแจ้งเตือนผ่าน Mobile Banking ในทำนองว่า “คุณต้องการที่จะให้บัญชีธนาคารของคุณเชื่อมต่อกับกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือไม่” ซึ่งการแจ้งเตือนนั้นมีข้อความค่อนข้างยาว ทำให้ผู้เสียหายหลายรายไม่อยากอ่าน และมองว่าไม่น่าจะมีอันตรายอะไรเกิดขึ้น เมื่อผู้เสียหายกด “ยอมรับ” บน Mobile Banking การเชื่อมบัญชีระหว่างบัญชี Mobile Banking ของผู้เสียหายกับบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของคนร้ายก็จะสมบูรณ์ ทำให้คนร้ายสามารถโอนเงินออกจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย ผ่านช่องทาง Mobile Banking ไปยังบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของคนร้ายได้ทันที ซึ่งอันที่จริงแล้วหากเรารู้วิธีสังเกตและป้องกันตนเอง สามารถลดความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ได้ โดยมีวิธีการดังนี้ครับ

1. ตรวจสอบให้ดีก่อนกดยืนยัน จากกรณีข้างต้น สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มักทำพลาดคือ ไม่ได้อ่านข้อความแจ้งเตือนจาก Mobile Banking ถึงแม้ว่าข้อความจะค่อนข้างยาว เราก็ควรอ่านทำความเข้าใจและตรวจสอบให้ดีว่าเป็นการเชื่อมต่อกับบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เราได้เปิดขึ้นเองหรือไม่ หากตรวจพบว่ามีการร้องขอให้คุณเชื่อมต่อบัญชีที่ไม่ได้เปิดขึ้นเองให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่ากำลังถูกมิจฉาชีพหลอกให้ทำรายการ และรีบติดต่อไปยังเบอร์ call center สถาบันการเงินที่ท่านใช้บริการโดยตรงครับ

2. ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลบนบัตรประชาชน เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็เสี่ยงกับเหตุการณ์แบบนี้ได้ ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเลขประจำตัวประชาชน และวันเดือนปีเกิด ไม่ควรเปิดเผยให้คนอื่นทราบโดยไม่จำเป็น เพราะข้อมูลเหล่านั้นอาจเป็นร่องรอยให้มิจฉาชีพใช้ติดตามจนนำภัยมาถึงคุณได้ครับ

3. ควรแยกบัญชีรับชำระเงินออกจากบัญชีเก็บรักษาเงิน ผู้ค้าออนไลน์ควรแยกบัญชีสำหรับรับชำระเงินออกจากบัญชีสำหรับเก็บรักษาเงิน บัญชีสำหรับรับชำระเงินที่ผูกกับบริการพร้อมเพย์หรือบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ควรมีไว้สำหรับรับเงินโอนจากลูกค้าเท่านั้น เมื่อมียอดเงินสะสมจำนวนหนึ่งหรือหลังจากปิดยอดการขายแต่ละวัน ควรโอนไปยังอีกบัญชีสำหรับเก็บรักษาเงินโดยเฉพาะ ซึ่งควรเป็นบัญชีที่ไม่ผูกไว้กับบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การถอนเงินออกจากบัญชีทำได้ยากขึ้นซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงกรณีเราพลาดและถูกโจรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ครับ

4. จำกัดจำนวนเงินที่โอนออก และสมัครบริการแจ้งเตือนความเคลื่อนไหวของยอดเงินในบัญชี อีกหนึ่งวิธีที่ท่านควรทำคือ ตั้งค่า Mobile Banking ให้จำกัดจำนวนเงินที่จะโอนเงินออกจากบัญชี และสมัครบริการ SMS แจ้งเตือนเมื่อมีเงินเข้าออกจากบัญชี ซึ่งบางธนาคารสามารถแจ้งเตือนผ่านทาง application LINE ได้ด้วยครับ หากท่านต้องการทราบขั้นตอนการตั้งค่าและสมัครใช้งานเว็บไซต์และ call center ของสถาบันการเงินที่ท่านใช้บริการมีคำตอบรอคุณอยู่ หรือถ้าท่านสะดวกคุยแบบเห็นหน้า สาขาธนาคารใกล้บ้านก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินเข้าไปสอบถามข้อมูลได้โดยตรง

แม้เทคโนโลยีทางการเงินในปัจจุบันได้สร้างความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้บริการควรตระหนักคือ การศึกษาทำความเข้าใจต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ เพื่อให้การใช้งานนั้นมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง ท่านสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับความรู้ทางการเงินและภัยทางการเงินที่เว็บไซต์ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) www.1213.or.th และกดติดตามเพื่ออัพเดทข้อมูลใหม่ๆที่พร้อมเสิร์ฟถึงมือท่านทุกวันที่ www.facebook.com/hotline1213

ผู้จัดทำ : สุรเชษฐ์ ศรีภูริรักษ์

ผู้วิเคราะห์ ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย