ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน 2562


3 พ.ค. 2562

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน 2562

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง


ผศ.ดร.วิวัฒน์จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมโดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหายาเสพติด โดยปัจจัยบวกส่วนหนึ่งมาจากการใช้จ่ายอุปโภค บริโภคของประชนที่เพิ่มขึ้นจากเดินทางการท่องเที่ยว พักผ่อนและพบปะญาติพี่น้องในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติมาร่วมเล่นน้ำสงกรานต์เป็นจำนวนมาก สร้างเงินสะพัดเพิ่มขึ้นหลายพันล้านบาทให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภาคใต้ ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมด้วย

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนปรับตัวลดลง ได้แก่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รายได้จากการทำงานฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย)ปัจจัยลบส่วนหนึ่งมาจากสภาวะอากาศแห้งแล้งติดต่อกันเป็นเวลา 3-4 เดือน ในหลายพื้นที่ของภาคใต้ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และพืชผักผลไม้ต่าง ๆ ให้ผลผลิตน้อยลง ประกอบกับราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำที่สุดในรอบ 14 ปี อยู่ที่ราคา 1.60 บาท/กิโลกรัม ซึ่งสร้างความวิตกกังวลแก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มเป็นอย่างมาก และได้มีการร้องเรียนถึงภาครัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือและออกนโยบายแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนอย่างไรก็ตาม ประชาชนในภาคใต้ยังเฝ้ารอความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะโฉมหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ว่าเป็นใคร และจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของภาคใต้ได้หรือไม่ ซึ่งประชาชนภาคใต้คาดหวังให้มีอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยแก้ปัญหาเศรษกิจของภาคใต้ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ลดลงเช่นกัน สาเหตุมาจากเหตุการณ์ลักลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและชาวบ้านในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยในวันพฤหัสที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ผู้ก่อการร้ายได้ยิงชาวบ้านและอาสาสมัครทหารพรานเสียชีวิต 3 รายในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 25.20 และ 27.60 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.80 และ 27.40 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.80 , 38.20 และ 35.40 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 29.10 รองลงมา คือ ค่าครองชีพ และราคาสินค้า คิดเป็นร้อยละ 25.70 และ 18.30 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ราคาพืชผลทางการเกษตร รองลงมา คือ ค่าครองชีพ ตามลำดับ