​โครงการดีๆ SME Provincial Champions ที่ชุมพร เอสเอ็มอีพัฒนา ชาติได้ประโยชน์


30 พ.ค. 2562

ติดตามโครงการ SME Provincial Champions โครงการดีๆที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการ ของกลุ่มเอสเอ็มอีในจังหวัดชุมพร พร้อมคำแนะนำจากที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็ง มีศักยภาพช่วยเหลือตัวเองได้ และเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจประเทศได้อย่างมั่นคง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดวงฤดี อุทัยหอม ที่ปรึกษาโครงการ SME Provincial Champions อาจารย์จากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยถึงข้อมูลโครงการ SME Provincial Champions ว่า โครงการ SME Provincial Champions เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน SME เพื่อเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจให้เกิดการเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่ง โครงการนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 มีผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจภาคการผลิตและภาคบริการ ครอบคลุมผู้ประกอบการ SME ทั้ง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจ (Start Up) , กลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในตลาด (Rising Star) และกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว (Turn Around) โดยผู้ประกอบการ SME เหล่านั้นได้กลายเป็น SMEs ที่มีความเข้มแข็งทางธุรกิจ สามารถเข้าสู่กลไกการส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้มีความมั่นคง ที่สำคัญเป็นธุรกิจที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างหรือใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการ ให้มีศักยภาพเติบโตเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจประเทศได้อย่างมั่นคง

ปี 2561 โครงการ SME Provincial Champions ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีผู้สมัครร่วมโครงการ 1,063 ราย ในจำนวนนี้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการให้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 462 ราย เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากถึง 680 ล้านบาท โดย SME ที่เข้ารอบ ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาด้านการบริหารและการตลาดที่เข้มข้นต่อเนื่อง เพื่อเน้นปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการตามแผนการพัฒนาของผู้ประกอบการเฉพาะราย ทั้งด้านการตลาด การผลิต การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยประยุกต์ใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และอัตลักษณ์ท้องถิ่น ประการสำคัญ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับการโค้ชชิ่ง (Coaching) จากที่ปรึกษาระดับมืออาชีพซึ่งเป็นนักธุรกิจผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแนะนำการปลดล็อคข้อจำกัดและผลักดันตัวเองเข้าสู่เป้าหมายที่ต้องการนำพาธุรกิจเข้าสู่โมเดลเทรด และเปิดประตูการค้าสู่ตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้ ผู้ผ่านการคัดเลือกมีโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ การได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ หรือสื่อการตลาด และการประชาสัมพันธ์ผ่านแพลทฟอร์ม (Platform) ของโครงการอย่างต่อเนื่อง

โดยการลงพื้นที่จังหวัดชุมพร ก็ได้มีการเข้าถึงกลุ่มเอสเอ็มอีที่ผ่านการคัดเลือก อาทิ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ , สถานประกอบการ : บ้านแม่นมโฮมสเตย์ เกาะพิทักษ์ , กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยเล็บมือนางนพเก้า , สถานประกอบการ : ร้านคุณอี๊ด แหล่ง จำหน่ายกล้วยเล็บมือนางสด อบแห้ง , สถานประกอบการ : โฮมสเตย์ท้องตมใหญ่ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร , เพนียดโฮมสเตย์ โฮมสเตย์ต้นแบบกองทุนหมู่บ้านและผู้สนใจด้านการเกษตร เป็นต้น

ด้านนายสำเร็จ มาศสุวรรณ ผู้จัดการศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร จังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการ SME Provincial Champions ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งสร้างผู้ประกอบการ SME 4.0 เป็นต้นแบบธุรกิจที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับจังหวัด อีกทั้งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจประเทศปี 62 เปิดรับ SME ภาคบริการและภาคการผลิตในธุรกิจการท่องเที่ยวสู่สุดยอด SME จังหวัด

โดย สสว. ได้สนับสนุนในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรายได้ไม่เกินล้านแปดแสนต่อปี ส่งเสริมในกลุ่มอุตสาหกรรมทุกกลุ่ม ทั้งการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์แปรรูป ซึ่ง สสว.จะเป็นผู้ให้ความรู้ให้คำปรึกษา และส่งต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่เริ่มเป็นสตาร์ทอัพ โดยจังหวัดชุมพรมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนแล้วกว่าสองหมื่นกว่าราย ส่วนใหญ่จะเป็นภาคการเกษตรประมาณ 50%

สิ่งที่เราได้พยายามทำตอนนี้คือการจัดอบรมและเก็บข้อมูลของเอสเอ็มอีแต่ละอำเภอ โดยจะแยกกลุ่มของเอสเอ็มอี แล้วส่งข้อมูลไปที่ส่วนกลาง ไม่ว่าเอสเอ็มอีรายใด มีปัญหาเรื่องไหน เราก็จะช่วยได้ถูกต้อง อาทิ อย่างขาดเรื่องการตลาด ก็ส่งเสริมด้านการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไฟลน์ หรือเข้าถึงแหล่งทุนไม่ได้ ทาง สสว.ก็มีหน้าที่ช่วยเหลือดูแลให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ทางผู้ประกอบการจะรู้ข้อมูลเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่เวลาเข้าไปปฎิบัติไม่ง่ายเราเลยช่วยทำให้มันง่ายขึ้น

ตั้งแต่ที่ทาง สสว.มาช่วยส่งเสริมสนับสนุน ชาวบ้านก็พร้อมปรับตัว มองเห็นความสำคัญมากขึ้น เราก็คาดหวังให้เอ็สเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็ง และช่วยเหลือตัวเองได้ โตขึ้นเปลี่ยนจากบุคคลธรรมดา เป็นนิติบุคคล เพิ่มความเชื่อมั่นของกลุ่มลูกค้า หาเงินทุนได้ง่ายขึ้น ระบบก็มีมากขึ้น ทำบัญชี จ่ายภาษี ขยายการสร้างงาน ถ้าสามารถพัฒนาได้จากทำคนเดียวจากคนสองคนเป็นสิบเป็นร้อยได้ ประเทศก็จะพัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่เรายึดมั่นมาโดยตลอด