การเงินน่ารู้กับ ธปท.ใต้ ตอน หนี้ครัวเรือนแก้ได้ด้วยวินัยทางการเงิน


25 มิ.ย. 2562

หนี้ครัวเรือนแก้ได้ด้วยวินัยทางการเงิน

โดย อารียา ยวงทอง มิถุนายน 2562


สำหรับท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจการเงินอยู่เป็นประจำ ย่อมคุ้นเคยกับคำว่าหนี้ครัวเรือนกันเป็นอย่างดี แต่สำหรับบางท่านที่ยังสงสัยในคำว่าหนี้ครัวเรือนที่เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือที่ได้ยินกันอยู่ทุกวันนี้ว่าคืออะไรนั้น ผู้เขียนขออธิบายง่ายๆว่า คือ ภาระหนี้ที่ครัวเรือนนั้นก่อขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นหนี้ผ่อนบ้าน หนี้ผ่อนรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หรือหนี้ผ่อนชำระสินค้าอื่นๆ จากธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และองค์กรธุรกิจสินเชื่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่ไม่รวมหนี้นอกระบบ

เราจะเห็นว่าในหลายปีที่ผ่านมาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของคนไทยอยู่ในระดับสูงมาตลอด โดยตัวเลขล่าสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 62 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยขยับมาอยู่ที่ 78.2% ต่อ GDP ด้วยเหตุนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงพยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการก่อหนี้ แต่มาตรการดูแลจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนลดต่ำลงได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ธปท.จึงได้ร่วมกับบริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำโครงการสำรวจศึกษาปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนไทยและนัยเชิงนโยบายพบว่า “ วินัยทางการเงินเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย” การบริหารจัดการหนี้เป็นหนึ่งในวินัยทางการเงินที่สำคัญไม่แพ้เรื่องการออม คนเราสามารถเป็นหนี้ได้หากมีหลักคิดที่ถูกต้อง เพราะการเป็นหนี้ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป บางครั้งเราอาจต้องใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือกู้เงินมาเพื่อประกอบธุรกิจ แต่ยังมีเงินไม่เพียงพอในปัจจุบัน จึงต้องนำเงินในอนาคตมาใช้ ซึ่งหลักการสำคัญในการตัดสินใจเป็นหนี้ คือ ควรเลือกก่อหนี้ดี ได้แก่ หนี้ที่สามารถสร้างอนาคตหรือความมั่นคงระยะยาวและหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่ดี หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ได้ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้กับเรา เช่น หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นต้น เพราะเมื่อเป็นหนี้แล้วเรามีหน้าที่ต้องใช้คืนเงินต้นรวมถึงดอกเบี้ย ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะตามมาทั้งหมด

โดยวันนี้ขอนำเครื่องมือที่จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้นำไปใช้ก่อนจะตัดสินใจเป็นหนี้ คือ 1) การวิเคราะห์สัดส่วนการผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือน ไม่ควรเกิน 1ใน3 ของรายได้ต่อเดือน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นภาระที่มากเกินไป และมีเงินเหลือสำหรับใช้จ่ายหลังชำระหนี้แล้ว เช่น สมชายมีรายรับเดือนละ 30,000 บาท ภาระผ่อนหนี้ของสมชายในแต่ละเดือนจึงไม่ควรเกิน 10,000 บาท 2) การวิเคราะห์สัดส่วนมูลค่าหนี้สินรวมต่อสินทรัพย์รวมที่มี เพื่อตรวจสุขภาพทางการเงินเรื่องหนี้ในเบื้องต้น ตามเกณฑ์มาตรฐานนั้นอัตราส่วนนี้ไม่ควรเกิน 50% 3) เมื่อจำเป็นต้องก่อหนี้ควรศึกษาข้อมูลและเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย เช่น ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อช่วยให้เรามีต้นทุนในการเป็นหนี้น้อยที่สุด รวมทั้งต้องศึกษาเงื่อนไขและข้อจำกัดของสินเชื่อแต่ละประเภทให้ดีก่อนตัดสินใจ โดยท่านผู้อ่านสามารถศึกษาและเปรียบเทียบข้อมูลเหล่านี้ได้จากเว็บไซต์ของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย www.1213.or.th 4) เมื่อเป็นหนี้แล้วสิ่งสำคัญในการบริหารจัดการหนี้ คือ วินัยทางการเงิน เราต้องสามารถชำระหนี้ให้ได้ตรงเวลา และเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือค่าใช้จ่ายอื่นตามมาในภายหลัง เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้ ค่าเบี้ยปรับ และดอกเบี้ยผิดนัดชำระ เป็นต้น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่หน่วยงานภาครัฐได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน หากภาคครัวเรือน ไม่สามารถรักษาวินัยทางการเงินได้ เนื่องจากสาเหตุสำคัญของการก่อหนี้รวมถึงปัญหาการชำระหนี้ล้วนเกิดจาก รายจ่ายที่ไม่สอดคล้องกับรายได้ โดยเฉพาะรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและเกินฐานะ หรือขาดการวางแผนทางการเงิน ที่เหมาะสมในระยะยาวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคครัวเรือนต้องตระหนักและปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายให้เหมาะสม และมีกระบวนการในการประเมินและวิเคราะห์สภาพการเงินของครัวเรือนหรือของตนเองก่อนก่อหนี้