สคร.12 แนะ ลดเสี่ยงซิฟิลิส ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย


26 มิ.ย. 2562

สคร.12 แนะ ลดเสี่ยงซิฟิลิส ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย

จากข้อมูลสถานการณ์โรคซิฟิลิส พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา พบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากที่สุด ในช่วงอายุ 15-24 ปี คิดเป็นร้อยละ 36.9 ซึ่งอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน และวัยเจริญพันธุ์

ข้อมูลจากการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ปี 2560 พบว่าวัยรุ่นมีแนวโน้ม การมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น โดยอายุเฉลี่ย 13-15 ปี และไม่ใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกประมาณร้อยละ 30 ส่วนข้อมูลพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัย ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ทั้งชายและหญิง ร้อยละ 76.9 และ 66.7 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ทั้งชายและหญิง ร้อยละ 74.1 และ 76.9 ระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพปีที่ 2 ทั้งชายและหญิง ร้อยละ 69.5 และ 74.6 จากข้อมูลทำให้เห็นว่าวัยรุ่นยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ซึ่งจะทำให้วัยรุ่นติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอชไอวี และการท้องไม่พร้อม

ดร.นายแพทย์ สุวิช ธรรมปาโล นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคชิฟิลิสในเขต 12 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 –2561 ว่า พบผู้ป่วยโรคชิฟิลิสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คิดเป็นอัตราป่วย 4.14, 1.58, 14.11, 4.97, และ9.39 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ โดยพบอัตราป่วยสูงสุดในจังหวัดพัทลุง รองลงมาจังหวัดสงขลา คิดเป็นอัตราป่วย 20.60 และ 19.00 ต่อแสนประชากร พบมากในกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ช่วงอายุ 15-24 ปี

โรคซิฟิลิส เป็นโรคที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การรับเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อ หรือจากแม่ที่ติดเชื้อซิฟิลิสแล้วไม่ได้รับการรักษาสู่ทารกในครรภ์ หลังจากได้รับเชื้อในช่วงแรกอาจจะพบแผลที่อวัยวะเพศ หลังจากนั้นแผลจะหายได้เอง และจะมีผื่นตามร่างกาย ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่อวัยวะเพศ อาจมีผมร่วงเป็นหย่อมๆได้ โดยผู้ติดเชื้อบางรายอาจจะไม่แสดงอาการ แต่เชื้อนั้นจะอยู่ในร่างกายถ้าไม่ได้รับการรักษา เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เชื้อนี้สามารถก่อให้เกิดความผิดปกติที่สมอง และระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดง ผู้ป่วยจะทราบว่าติดเชื้อได้ต่อเมื่อมีการไปตรวจเลือด เช่น การตรวจเลือดเพื่อบริจาคเลือด หรือการตรวจคัดกรองในระยะฝากครรภ์ ซึ่งโรคนี้มียารักษาและสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ควรมีการตรวจติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูระดับผลเลือด

อาการของโรคซิฟิลิส แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ซิฟิลิสระยะแรก แผลริมแข็ง ตุ่มแดง ขอบนูนแข็ง ไม่เจ็บ มักเกิดบริเวณอวัยวะเพศชาย อัณฑะ ทวารหนัก ช่องคลอด หรือ ริมฝีปาก หลังจากรับเชื้อประมาณ 10-90 วัน จะเป็นแผลประมาณ 1-5 สัปดาห์ แล้วจะหายไปเองโดยไม่ได้รักษา ระยะที่สอง จะเกิดผื่นในช่วงที่แผลริมแข็งหายไป 2-3 สัปดาห์ ลักษณะผื่นมีสีแดง หรือสีน้ำตาล ไม่คัน มักพบบริเวณฝ่าเท้า ฝ่ามือ มีไข้ ผมร่วงเป็นหย่อมๆ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-3 เดือน แล้วจะค่อยๆหายเอง ระยะนี้ถ้าตรวจเลือดจะพบว่า “เลือดบวกซิฟิลิส” ระยะแฝงและระยะท้ายเชื้อจะไม่แสดงอาการจนผ่านไปแล้ว 10-20 ปี จะเข้าสู่ระยะหลังเชื้อซิฟิลิสจะค่อยๆทำลายอวัยวะภายในของร่างกาย เช่น สมอง เส้นประสาท ตา หัวใจ เส้นเลือด กระดูก ทำให้ตาบอดและอาจถึงขั้นเสียชีวิต และซิฟิลิสแต่กำเนิด มารดาที่ติดเชื้อซิฟิลิสขณะตั้งครรภ์ อาจแท้ง หรือทารกตายในครรภ์ เด็กที่รอดชีวิตอาจจะดั้งจมูกยุบ ปากแหว่ง เพดานโหว่ ตาบอด

“สำหรับการป้องกันโรคนั้น แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และรับผิดชอบต่อคู่และสังคม ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หากมีความเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และขอแนะนำให้เจาะเลือดเพื่อตรวจคัดกรองซิฟิลิสและเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและลดโอกาสการแพร่เชื้อของโรคได้”

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค มีนโยบายสนับสนุนการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งประชาชนสามารถรับถุงยางอนามัยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ผ่านสถานบริการของรัฐและหน่วยงานสังกัดกรมควบคุมโรค รวมทั้งสอบถามข้อมูลความรู้ในการป้องกันตนเองและคู่ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ การใส่ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีได้ที่สายด่วนปรึกษาเอดส์ โทร.1663 หรือที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422