การเงินน่ารู้กับ ธปท.ใต้ ตอน เรื่องการเงิน แค่สะกิด...ชีวิตก็เปลี่ยน


28 มิ.ย. 2562

เรื่องการเงิน แค่สะกิด...ชีวิตก็เปลี่ยน

โดยหทัยชนก อนันต์ทวีวัฒน์ มิถุนายน 2562

คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่ตั้งใจจะออกกำลังกายและกินอาหารที่มีประโยชน์ แต่ก็พบว่าพอเลิกงานปุ๊บก็ไปหาของกินแสนอร่อยที่ถูกใจปั๊บ หรือซื้อลู่วิ่งเพราะมีความตั้งใจจริงแต่ก็กลายเป็นราวตากผ้า หรือคุณเคยสัญญากับตัวเองไหมว่าจะไม่ซื้อเสื้อผ้าเพราะมีเต็มบ้าน แต่พอเจอป้ายลดราคา เราก็วิ่งเข้าใส่ โดยพื้นฐานแล้วคนเราจะเลือกทำในสิ่งที่ทำให้ความเป็นอยู่ของเราดีขึ้น แต่ก็มีบางอย่างที่ทำให้เราเลือกทำอย่างอื่น ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราเอนเอียงนี้ เรียกว่า “พฤติกรรมเอนเอียง” นั่นเอง ซึ่งมีแนวทางที่จะแก้ไขได้ด้วย “การสะกิด (Nudge)”

การสะกิดเกี่ยวข้องกับการเงินอย่างไร ? เราต่างเคยรู้ว่าการให้ความรู้ทางการเงิน (FinancialLiteracy) ช่วยส่งเสริมให้เรามีทักษะทางการเงินที่ดีขึ้น แต่บางครั้งก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าคนที่มีความรู้ทางการเงินดีจะมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีเสมอไป ในช่วงที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายแห่งที่พบว่าการให้ความรู้ทางการเงินเพียงอย่างเดียวส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีผลต่อการลงมือตั้งเป้าหมายการออมที่ส่งผลให้มีเงินออมเพิ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วได้ข้อสรุปว่าการส่งเสริมทักษะทางการเงินที่มีประสิทธิภาพควรดำเนินการให้ความรู้ไปพร้อมกับการกระตุ้นพฤติกรรมหรือที่รู้จักกันด้วยคำว่า “การสะกิด” ที่เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Economics)เพื่อให้เกิดความตระหนักและลงมือปฏิบัติจนส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินที่ดีในที่สุด

ปัจจุบันหลายวงการมีการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมเพื่อจัดการให้เกิดพฤติกรรมอันพึงประสงค์ หนึ่งในทฤษฏีการ Nudge ที่หลายคนรู้จัก ก็คือ Richard H. Thaler และ Cass R. Sustein[1]เจ้าของหนังสือ “สะกดความคิด สะกิดพฤติกรรม” ซึ่งพบว่าการตัดสินใจของคนเราไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผลเท่านั้น และเราก็อาจไม่ได้มีความตั้งใจจริงและมีวินัยในตัวเองที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ นอกจากนี้มนุษย์ยังมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับธุรกรรมที่ต้องมีเอกสารจำนวนมาก ความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การรอคอย และการติดต่อกับเจ้าหน้าที่บริการลูกค้า เป็นต้น มาถึงตรงนี้แล้วคุณสงสัยหรือไม่ว่าอะไรที่ทำให้การตัดสินใจของเราเกิดความเอนเอียงจากความตั้งใจดีในตอนเริ่มต้น แต่มีบางอย่างที่ทำให้เราเลือกทำอย่างอื่น

พฤติกรรมเอนเอียงเกิดขึ้นได้อย่างไร นั่นก็มาจากความลำเอียงและความผิดพลาดในการตัดสินใจเพราะมีตัวเลือกเยอะหรือน้อยเกินไป ซึ่งยังฟังดูเข้าใจยาก จึงขอยกตัวอย่างถึงการคิดแบบอัตโนมัติที่เป็นการทำอะไรตามสัญชาตญาณที่พยายามต่อสู้กับการคิดแบบไตร่ตรอง เช่น เราจดรายการที่ต้องการซื้อไว้อย่างดี แต่พอเจอป้ายลดราคาสุดๆ ระบบอัตโนมัติจะบอกให้เราซื้อสิ่งของที่ลดราคา แม้ว่าสิ่งของเหล่านั้นจะไม่ใช่รายการที่ต้องการซื้อ การคิดแบบอัตโนมัติเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรามีพฤติกรรมที่เอนเอียง ไม่เลือกทำในสิ่งที่ทำให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดี แต่เราสามารถเอาชนะการคิดอัตโนมัติได้ ถ้าเราฝึกใช้ระบบไตร่ตรองบ่อยๆ หนึ่งในนั้นคือการทำบันทึกรายรับรายจ่าย

อีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดพฤติกรรมเอนเอียง คือ การมองโลกในแง่ดีและมั่นใจเกินเหตุ
ซึ่งตัวอย่างที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยก็คือ การซื้อลอตเตอรี่ เรามักมองโลกในแง่ดีและมั่นใจว่าเราจะต้องถูกรางวัลโดยไม่ได้คิดถึงโอกาสที่จะไม่ถูกรางวัลซึ่งมีมากกว่า พฤติกรรมแบบนี้เราสามารถสะกิดได้โดยการทำให้เพื่อนของเราหรือคนใกล้ชิดนึกถึงเหตุการณ์ที่เค้าจะพลาดรางวัล เช่น ชี้ให้เห็นว่าโอกาสที่จะถูกรางวัลเลขท้าย 2 ตัว มีเพียง 1% เท่านั้น และถ้าเป็นรางวัลที่ 1 โอกาสก็จะเหลือเพียง 0.0001% เลยทีเดียว หรือใน 1 ล้านใบมีโอกาสถูกรางวัลที่ 1 แค่ใบเดียว ความมั่นใจเกินเหตุส่งผลอะไรบ้าง กู้เลย...ฉันจ่ายไหว หรือบางทีก็ไม่บริหารเงิน เพราะคิดว่าตนเองไม่มีปัญหาอะไร แถมไม่ป้องกันความเสี่ยง ทำให้มองไม่เห็นสัญญาณของปัญหาการเงิน กว่าจะรู้ว่าตนเองมีปัญหาการเงินจนแก้ไขไม่ได้ ก็สายเสียแล้ว รวมถึงการที่คนเรามักประเมินพลังของสิ่งล่อใจต่ำเกินไป คิดว่าเราไม่อ่อนไหวต่อสิ่งเร้า ซึ่งจริงๆ แล้ว สิ่งล่อใจและพฤติกรรมไร้สติจะเป็นตัวการจัดการเรา ดังนั้น หากเรารู้จุดอ่อนของตัวเอง เช่น ในการวางแผนการเงินที่ส่วนใหญ่เรามักจะมีแผนอยู่ในใจแล้วว่าจะนำเงินส่วนไหนไปทำอะไร แต่ก็มีหลายครั้งที่เราไม่รู้ตัวเองจึงต้องมีการสะกิด

และสุดท้าย อิทธิพลทางสังคม ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราเอนเอียง เพราะคนเราอยากเป็นที่ยอมรับในสังคม โดยตัวอย่างที่เห็นชัดเจนเมื่อไม่นานมานี้เองกับโฆษณา “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” ที่เป็นการปูพื้นฐานความคิดและใช้แรงกดดันของสังคมเพื่อให้เกิดพฤติกรรมไปพร้อมกัน นอกจากนี้ มีงานวิจัยหนึ่งทดลองนำการสะกิดด้วยการกำหนดค่าเริ่มต้นไปใช้กับเรื่องการเงิน โดยพบว่า การเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบอัตโนมัติ (กรณีไม่ประสงค์เข้าร่วม สามารถกรอกแบบฟอร์มไม่เข้าร่วมได้) สามารถเพิ่มอัตราการเข้าร่วมของพนักงานกว่า 90% ในทันที ในขณะที่การสมัครเข้าร่วมกองทุนฯ แบบสมัครเอง มีอัตราการสมัครเพียง 20%

อีกหนึ่งตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ตัว คือ การแบ่งหน่วยย่อยๆ ด้วยการเริ่มต้นออมด้วยจำนวนไม่สูงมากแต่มีความถี่ที่เพิ่มขึ้น เช่น การออมด้วยแบงก์ 50 บาท โดยบอกว่าต้องใช้แบงก์ 50 กี่ใบเพื่อไปเที่ยวประเทศต่างๆ ก็ช่วยสะกิดส่งผลให้คนมีกำลังใจและตัดสินใจออมเพื่อท่องเที่ยวกันมากขึ้น นอกจากนี้ การเปรียบเทียบข้อมูลก็เป็นอีกวิธีแปลความหมายที่อำนวยความสะดวกและทำให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น เช่น การเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยใน www.1213.or.th ที่แบงก์ชาติช่วยรวบรวมข้อมูลเงินฝาก ฝากที่ไหน อย่างไร ได้ดอกเบี้ยเท่าไร รวมถึงค่าธรรมเนียมเราก็มีเปรียบเทียบให้ทั้งฝาก ถอน โอน รวบรวมไว้ในที่เดียว

สุดท้ายนี้จะไม่กล่าวถึงวิธีนี้คงไม่ได้ นั่นคือ การสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมเกี่ยวกับการออม ซึ่งพบว่าคุณลุงท่านหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการบริหารเงินกับชุมชนมีค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าเหล้าและบุหรี่ ไม่ว่าจะให้บันทึกรายรับรายจ่ายอย่างไรก็ไม่เป็นผล ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่โครงการฯ ทราบว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคุณลุงคือลูก จึงได้ใช้เป้าหมายที่อยากจะให้ลูกได้เรียนสูงๆ เป็นแรงบันดาลใจให้คุณลุงเลิกเหล้าและบุหรี่เพื่อนำเงินมาเก็บออมเป็นค่าเทอมให้ลูก

การสร้างทักษะการเงินก็เช่นกันจำเป็นต้องให้ความรู้ควบคู่กับกระตุ้นพฤติกรรมหรือการสะกิดแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักเห็นความสำคัญในเรื่องการวางแผนการเงินและลงมือปฏิบัติจนส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินที่ดีในระยะยาว ดังนั้น เราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด พวกคุณคือนักออกแบบทางเลือกที่สามารถประยุกต์ใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อการส่งเสริมทักษะการเงินภายในครอบครัว หน่วยงาน ไปจนถึงระดับชุมชนและสังคมได้ รวมถึงการร่วมมือกันเพื่อออกแบบสภาพแวดล้อมในการตัดสินใจเพื่อจูงใจให้คนไทยเห็นว่าเรื่องการเงินเป็นเรื่องสำคัญและง่ายที่ต้องเริ่มลงมือทำอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้


[1] Richard H. Thaler, Cass R. Sustein. (2008). Nudge สะกดความคิด สะกิดพฤติกรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วีเลิร์น