​ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนตุลาคม 2562


1 พ.ย. 2562

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง


ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายนโดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความสุขในการดำเนินชีวิต รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว รายได้จากการทำงาน ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกส่วนหนึ่งมาจากเกษตรกรได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในโครงการประกันราคาผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่

การประกันราคาปาล์มน้ำมันที่ราคา 4 บาทต่อกิโลกรัม ประกันราคายางพาราที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม ไม่เกิน 25 ไร่ต่อครัวเรือน ประกันราคาข้าวและประกันราคามันสำปะหลัง ทำให้ประชาชนเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลระยะที่ 2 ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้ 1) มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้ 1 และ 2” 2) มาตรการลดภาระเพื่อที่อยู่อาศัย 3) มาตรการเพื่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. 4) มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งส่งเสริมการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศและใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวของประชาชน

ประกอบกับเดือนตุลาคมมีวันหยุดชดเชยวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร และวันหยุดปิยมหาราช ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางท่องเที่ยว เพื่อเป็นการพักผ่อนในวันหยุด นอกจากนี้ ในต้นเดือนตุลาคมเป็นช่วงเทศกาลกินเจของประชาชนเชื้อสายจีนซึ่งจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ทั้งค่าอาหารเจและค่าเดินทางไปทำบุญ แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะจับจ่ายน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบ และผักต่าง ๆ ราคาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น อีกทั้ง ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น และยังไม่มั่นใจว่าจะฟื้นตัวเมื่อใด จึงจำเป็นต้องควบคุมการใช้จ่ายเงิน

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.70 และ 38.90 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 39.30 และ 37.90 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 33.70 , 36.80 และ 34.70 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 28.50 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 22.10 และ 14.90 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ