ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤศจิกายน 2562


3 ธ.ค. 2562

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนพฤศจิกายนเปรียบเทียบเดือนตุลาคม และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคมโดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) โดยปัจจัยลบส่วนหนึ่งมาจากเดือนนี้มรสุมเริ่มเข้าสู่พื้นที่ภาคใต้ มีฝนตกกระจายทั่วทั้งภาคใต้ติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ในภาคเกษตรสวนยางพาราลดลง สอดคล้องกับการเดินทางท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลที่ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงมรสุมและไม่มีเทศกาลวันหยุด ในขณะที่ความเชื่อมั่นของประชาชนด้านแก้ปัญหาเศรษฐกิจลดลง ซึ่งสวนทางกับการที่ภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนเป็นสิ่งที่ดี แต่เป็นเพียงการช่วยเหลือในเบื้องต้น ซึ่งยังไม่เข้าถึงแก่นแท้ของปัญหาที่ฝังรากลึกมาเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาล้วนแล้วต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงขอเสนอแนะให้รัฐบาลทบทวนการใช้เงินอย่างรอบคอบในการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ไปเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนโดยภาพรวมอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับกลุ่มนายทุน หรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในส่วนความเชื่อมั่นที่ลดลงด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหลายพื้นที่ อาทิ กลุ่มคนร้ายยิงจุดตรวจชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านทางลุ่ม ม.5 ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2562 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 คน และบาดเจ็บอีก 5 คน สร้างความวิตกกังวลต่อความปลอดภัยและความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดใกล้เคียง

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 27.90 และ 26.20 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 25.10 และ 32.10 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 20.80 , 15.00 และ 17.20 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 26.20 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 24.10 และ 16.90 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ