​จากแปลงผักชุมชน ส่งตรงครัวโรงพยาบาล ยึดมาตรฐาน PGS สร้างระบบรับรองด้วยเครือข่าย


18 ธ.ค. 2562

ทราบกันดีว่าโรคภัยหลายอย่างมีอาหารเป็นเหตุ จนเรียกกันว่า ‘กินอะไร ได้อย่างนั้น’ แต่ก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงยากในสังคมที่เราไม่ได้ปรุงอาหารเอง โดยเฉพาะเมื่อต้องไปพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

โรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้รับนโยบาย Clean & Green Hospital จากกระทรวงสาธารณสุขมองว่า แนวคิด Food Safety Hospital นั้นมีมิติที่สามารถทำร่วมกับชุมชนหรือเกษตรกรในพื้นที่ได้ จึงได้ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ ริเริ่มรับเอาวัตถุดิบทางด้านอาหารเข้ามาใช้ในโรงครัวของโรงพยาบาล ซึ่งแต่ละวันที่นี่ต้องจัดการอาหารมากกว่า 2,000 ชุด

คุณรุ่งฤดี ศิริรักษ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลหาดใหญ่ เล่าว่า เดิมทีโรงพยาบาลสั่งซื้อวัตถุดิบด้านอาหารเฉพาะจากผู้ประกอบการรายใหญ่ในรูปแบบการแข่งขันเสนอราคา เน้นเลือกที่ราคาถูก แต่ในเมื่อมาทบทวนว่าหากยึดตามนโยบายอาหารปลอดภัยแล้ว วัตถุดิบเหล่านี้อาจไม่ได้ดีพอสำหรับผู้ป่วย จึงเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้ามาขายกับโรงพยาบาล

“เราได้ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่เลือกเกษตรกรที่น่าเชื่อถือ กำหนดหลักเกณฑ์ การตรวจแปลง การกำหนดมาตรฐาน ไปจนถึงวิธีการจ่ายเงินให้เหมาะสมต่อทั้งระเบียบโรงพยาบาลและตัวเกษตรกรเอง จนตอนนี้เราสามารถกำหนดเมนูอาหารของโรงพยาบาลได้ล่วงหน้า 3 เดือน เพื่อให้เครือข่ายเกษตรกรมีเวลาวางแผนการปลูกให้สอดคล้องกัน เราหันมาใช้ผักพื้นบ้านมากขึ้น รวมทั้งทบทวนราคาพืชผักกันทุกสามเดือนเพื่อให้ตรงกับสถานการณ์จริง จากการเก็บข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า นอกจากเราจะไม่ต้องซื้อสินค้าแพงกว่าเดิมแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินโรงพยาบาลได้อย่างน้อย 20% ด้วย”

ในเรื่องการกำหนดมาตรฐานเพื่อรองรับคุณภาพสินค้าจากเครือข่ายเกษตรกรนั้น คุณกำราบ พานทอง แกนนำเครือข่ายเล่าว่า การรับรองคุณภาพความปลอดภัยของสินค้าเกษตรมีหลายมาตรฐาน หลายระดับ ทางเครือข่ายได้เลือกใช้มาตรฐาน PGS หรือ Participatory Guarantee System หรือระบบการรับรองโดยการมีส่วนร่วม ดำเนินการในนามของ ‘เครือข่ายเกษตรกรสุขภาพจังหวัดสงขลา’ ที่กำหนด ‘มาตรฐานร่วม’ ในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม การจัดการปัจจัยการผลิต การควบคุมปกป้องแปลง ระบบการตรวจ ประเมิน และลงโทษ จัดตั้งทีมตรวจแปลงที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ โรงพยาบาล สสจ. เกษตรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์ ศวพ. เครือข่ายผู้ผลิต ผู้บริโภค รวม 9 คน ทำหน้าที่ลงตรวจคุณภาพของแปลง ก่อนจะนำข้อมูลเข้าที่ประชุมใหญ่เพื่อให้การรับรอง หรือแนะนำเพื่อแก้ไขต่อไป หลังจากนั้นถึงจะเข้าสู่กระบวนการวางแผนการปลูก/ผลิต เพื่อนำสินค้าส่งเข้าครัวโรงพยาบาลผ่านตัวแทนที่มีหน้าที่รวบรวมและชำระค่าสินค้าให้ก่อน

“ตอนนี้เรามีกลุ่มวิสาหกิจ 2 ราย จากอำเภอจะนะ และระโนด ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรวบรวมผลผลิต ตรวจสอบสินค้าจากเกษตรกรรายย่อย จ่ายค่าสินค้าล่วงหน้าแก่รายย่อย แล้วนำมาส่งให้ครัวโรงพยาบาล ในขณะที่ตัวกลางนี้จะต้องรับภาระรอรับชำระเงินนานร่วมเดือนตามระเบียบของโรงพยาบาล แต่ก็เป็นกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยมีรายได้ที่นำไปหมุนเวียนเพาะปลูกใหม่ได้ทันที”

แนวทางการส่งผลผลิตอาหารปลอดภัยจากเกษตรกรตรงสู่ครัวโรงพยาบาลหาดใหญ่นี้เพิ่งดำเนินงานมาได้ไม่นานนัก ยังต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น ขยายเครือข่ายเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจนสามารถป้อนได้เต็ม 100 % ของความต้องการสินค้าของครัวโรงพยาบาลต่อไป