​คิดให้ชัวร์ ก่อนเล่นแชร์ (บทความการเงิน)


28 มี.ค. 2563

คิดให้ชัวร์ ก่อนเล่นแชร์ (บทความการเงิน) ผู้เขียน นายธีรธัชช์ จำเริญนุสิทธิ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ปัจจุบันการเล่นแชร์ยังคงได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวาง และอาจกล่าวได้ว่าการเล่นแชร์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะเล่นกันในกลุ่มคนที่รู้จักใกล้ชิดสนิทกัน โดยมีจุดประสงค์ของการเล่นแชร์เพื่อเก็บออมเงินหรือระดมเงินทุนหมุนเวียนกันในกลุ่ม

โดยประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ที่มีสาระสำคัญของกฎหมายโดยสรุป ดังนี้

ภาพประกอบ : กองปราบปราม

1. ห้ามนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนก็ห้ามด้วยเช่นกัน หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1 เท่า ถึง 3 เท่าของทุนกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ แต่ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท ส่วนกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลที่รับผิดชอบในการจัดการหรือบริหารงานของนิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลด้วย

2. บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ได้ ต้องเข้าหลักเกณฑ์คือ นายวงแชร์จะจัดให้มีวงแชร์รวมกันได้ไม่เกิน 3 วง ไม่ว่าจะพร้อมกันหรือทยอยตั้งก็ได้ สมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงไม่เกิน 30 คน และมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่าไม่เกิน 300,000 บาท โดยนายวงแชร์จะได้รับประโยชน์ตอบแทนคือเปียทุนกองกลางได้โดยไม่เสียดอกเบี้ยเท่านั้น หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

4. ห้ามใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน

แม้จะมีกฎหมายรองรับ แต่การเล่นแชร์ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก เนื่องจากการเล่นแชร์ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ใดๆ เป็นหลักประกัน หากวงแชร์ล้ม สมาชิกวงแชร์จะต้องฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องความเสียหายกับนายวงแชร์เอง

นอกจากนี้ยังมีการตั้งวงแชร์ขึ้นมาเพื่อหลอกลวงหรือหาผลประโยชน์ที่แอบแฝงการเล่นแชร์ ในรูปแบบการเล่นแชร์ออนไลน์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น การให้กู้ยืมเงินนอกระบบแอบแฝงการเล่นแชร์ โดยมิจฉาชีพจะตั้งกลุ่มและเปิดวงแชร์ จากนั้นจะโฆษณาผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กโดยใช้ข้อความเชิญชวน อาทิ “แชร์VIP รับเงินทุกวัน” “แชร์แม่มะลิ ดอกต่ำ กำไรดี” และผู้ที่สนใจก็จะถูกเชิญเป็นสมาชิกเข้ากลุ่มผ่านแอปพลิเคชันสนทนา สมาชิกที่ต้องการเงินก้อนจะต้องเข้าร่วมประมูลหรือเสนอดอกเบี้ย และผู้ที่เสนอดอกเบี้ยสูงสุดก็จะได้เงินก้อนนั้นไป

จากนั้นสมาชิกที่รับเงินไปจะต้องชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นผ่านธนาคารที่กำหนดไว้ หากไม่จ่ายจะมีการติดตามทวงถามที่รุนแรง อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การเล่นแชร์ออนไลน์แบบจงใจฉ้อโกง โดยจะให้สมาชิกวงแชร์แต่ละคนลงเงินกองกลาง ใครที่เสนอประมูลหรือเปียแชร์สูงสุดจะได้เงินก้อนนั้นไป จากนั้นวงแชร์นั้นก็จะหายไป ไม่มีการโอนเงินเกิดขึ้น สมาชิกที่เปียได้ก็ไม่ได้เงินก้อนนั้น และสมาชิกคนอื่นก็จะเสียเงินที่นำมาลงด้วย กรณีนี้ถือเป็นการกระทำความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกง สมาชิกวงแชร์ต้องนำคดีมาฟ้องที่ภูมิลำเนาของของนายวงแชร์หรือที่มูลคดีเกิด เช่น ถ้านายวงแชร์แชร์อยู่จังหวัดนราธิวาส สมาชิกวงแชร์ที่เสียหายต้องนำคดีมาฟ้องที่จังหวัดนราธิวาสเท่านั้น

ดังนั้น ก่อนเล่นแชร์ ควรคิดไตร่ตรองดีๆ และควรศึกษาข้อกฎหมายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และติดตามข่าวสารกลโกงรูปแบบต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกหลอกลวง