​ฝ่ายปกครองท้องที่ ฝ่ายปกครองท้องถิ่น ควรมีแค่หนึ่งเดียวดีหรือไม่ (1)


14 เม.ย. 2563

ในช่วงโควิด-19 นอกจากข่าวการรักาาด้านต่างๆ ข่าวการขอขึ้นเงินเดือนของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่ขอกันอีกคนละ 5,000 โดยกำนันยงยศ แก้วเขียว นายสมาคมคนเดิมที่ครองตำแหน่งมายาวนานมาก ผมลองหาข้อมูลดูคร่าวๆ ปัจจุบันประเทศไทยมี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ทั้งสิ้น 263,360 คน เฉพาะกำนัน 7,036 อัตรา ผู้ใหญ่บ้าน 67,627 อัตรา


ค่าตอบแทนกำนัน เริ่มต้นที่ 10,000 บาทขึ้นตามขั้น 25 ขั้นสูงสุดที่ 15,000 บาท ผู้ใหญ่บ้านเริ่ม 8,000-13,000 บาท แพทย์-สารวัตร-ผู้ช่วย เริ่มที่ 5,000-10,000 บาท รวมบุคลากรทุกตำแหน่ง 263,360 อัตรา คิดเป็นค่าตอบแทนปีละเท่าไหร่? บทบาทของฝ่ายปกครองท้องที่คืออะไร? ทับซ้อนกับฝ่ายปกครองท้องถิ่นหรือไม่? แน่นอนว่าท้องที่มีมานานแล้วเป็นการปกครองแบบดั้งเดิมของประเทศ ผู้มีบารมีในพื้นที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้จนขยับปรับเปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งในปัจจุบัน

การปกครองท้องถิ่นในอดีตมีแค่ในเขตที่ตั้งจังหวัดหรือเขตเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น บ้านเราเทศบาลหาดใหญ่ เทศบาลสงขลา คือชื่อที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ส่วนที่อื่นส่วนใหญ่เพิ่งมาเกิดที่หลัง เกิดจากการเริ่มกระจายอำนาจหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เห็นบทบาทอบต.ที่ชัดเจนขึ้น มีเทศบาลที่ผ่านการยกฐานะใหม่มากมายทั้งจากสุขาภิบาลและจากอบต.

ข้อมูลจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย

1.องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง

2. เทศบาล 2,452 แห่ง แบ่งเป็น

2.1 เทศบาลนคร 30 แห่ง

2.2 เทศบาลเมือง 179 แห่ง

2.3 เทศบาลตำบล 2,233 แห่ง

3. องค์การบริหารส่วนตำบล 5,332 แห่ง

4. องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา) 2 แห่ง

รวมทั้งสิ้น 7,852 แห่ง นายกท้องถิ่นหรือผู้นำฝ่ายบริหาร 1 คน มีการแต่งตั้งรองนายก เลขา ที่ปรึกษาอีกมีเกือบ 10 ตำแหน่ง สมาชิกสภาที่มาจากการแบ่งเขตเลือกตั้งอีกเท่าไหร่ เงินเดือนผู้ว่ากทม.ทะ 100,000 บาท นายกอบจ.หรือเทศบาล แตะ 70,000 เข้าไปแล้ว นายกอบต. 25,000 สมาชิกสภาตำแหน่งต่างๆ ก็มิใช่น้อยๆ ค่าใช้จ่ายเหลล่านี้มาจากภาษีประชาชนทั้งสิ้น

ข้อมูลอัตราเงินเดือนในตำแหน่งต่างๆ ของท้องถิ่นมีดังนี้

- อบจ. นายก 75,540 บาท รองนายก 45,540 บาท เลขา 19,440 บาท ที่ปรึกษา 13,880 บาท ประธานสภา 30,540 บาท รองประธาน 25,000 บาท สมาชิกสภา 19,440 บาท

- เทศบาล/พัทยา นายก 75,540 บาท รองนายก 45,540 บาท ประธานสภา 30,540 บาท รองประธานส 25,000 บาท สมาชิกสภา สท.19,440 บาท เลขา 19,440 บาท ที่ปรึกษา 13,880 บาท

- อบต. นายก 26,080 บาท รองนายก 14,140 บาท ประธานสภา 12,140 บาท รองประธาน 9,940 บาท สมาชิกสภา 7,920 บาท เลขา 7,920 บาท เลขานุการสภา 7,920 บาท

- กทม. ผู้ว่าฯ 113,560 รองผู้ว่าฯ 90,320 เลขา 44,110 ผู้ช่วยเลขา 37,950 ประธานที่ปรึกษา 52,290 ที่ปรึกษา 44,110 ประธานส.ก. 73,560 บาท รองประธานส.ก.61,140 บาท ส.ก.48,450 บาท ประธานส.ข. 16,182 บาท ส.ข. 11,996 บาท

อัตราค่าตอบแทนเหล่านี้คือข้อมูลที่อาจมีการผันแปรบ้าง แต่จะเห็นได้ว่าในแต่ละปีประเทศไทยต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการตอบแทนบุคคลเหล่านี้ ถึงเวลาหรือยังที่เราควรเลือกว่าระหว่างฝ่ายปกครองท้องที่ กับ ฝ่ายปกครองท้องถิ่น ควรมีแค่หนึ่งเดียวดีหรือไม่


ตอนที่ 2 ค่อยหาเคสตัวอย่างความสับสนของท้องที่กับท้องถิ่นในหลายๆตำบลกันบ้าง

ต้อม รัตภูมิ รายงาน