ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนตุลาคม 2563


3 พ.ย. 2563

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนตุลาคม 2563

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความ

เชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนตุลาคม เปรียบเทียบเดือนกันยายน และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือน สิงหาคม กันยายน และตุลาคม 2563

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในเดือนตุลาคม ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวม (42.60) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน (41.80) แต่หากเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม พ.ศ.2562 ซึ่งอยู่ที่ 48.30 นับว่ายังน้อยกว่ามาก ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมที่เพิ่มขึ้นนั้น ปัจจัยบวกคือ ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ราคาทะลายปาล์มน้ำมันปรับตัวขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการใช้พลังงานไบโอดีเซลภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น จึงผลักดันให้ราคาทะลายปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และปัจจัยบวกที่สำคัญที่สุด คือ ราคายางพาราได้ปรับตัวสูงขึ้น ล่าสุดราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ที่ ตลาดกลางยางพารา จังหวัดสงขลา พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุด 82.76 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคายางยังคงอยู่ในแนวบวกอย่างต่อเนื่อง และสูงสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือน โดยคาดกันว่า ราคายางในประเทศจะขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 90 บาทในอีกไม่นาน โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

1. การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ มีความต้องการใช้ถุงมือยางจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำยางข้น ที่จะนำไปใช้ผลิตเป็นถุงมือยาง ส่งผลให้น้ำยางข้นมีราคาสูงขึ้น ในขณะที่การผลิตยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควัน รวมถึงเศษยางมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานผลิตล้อยาง และสินค้าอื่น ๆ ดังนั้น เมื่อมีความต้องการสูง แต่สิ่งที่มีอยู่จำนวนน้อยกว่าความต้องการ จึงทำให้ราคายางแผ่นมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำยางข้นเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

2. ยางพาราในตลาดมีจำนวนที่น้อยลงมาก เนื่องจากแรงงานพม่าซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ที่รับจ้างกรีดยางได้เดินทางกลับประเทศพม่าในช่วงที่ประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์ ทำให้ในปัจจุบันแรงงานพม่าอีกจำนวนมากยังไม่สามารถกลับเข้ามาในประเทศไทยได้

3. สภาพอากาศในกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ เวียดนาม จีนตอนใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย มีฝนตกชุก เกิดน้ำท่วมขัง และมีพายุพัดผ่านหลายลูก ส่งผลให้ผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดน้อยลง

4. ในช่วงเดือนตุลาคมซึ่งตรงกับกำหนดส่งมอบยางตามสัญญาซื้อขายที่ทำไว้ล่วงหน้า ทำให้ผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ยาง และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง ยังมีการเก็งกำไรเกิดขึ้นในประเทศ จนเกิดความกังวลว่าผลผลิตยางพาราจะไม่เพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของตลาดต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ยังคงอยู่ในระดับ 80 กว่าบาทต่อกิโลกรัม และอาจจะดีดตัวไปถึง 100 บาทต่อกิโลกรัมได้ และราคาจะทรงอยู่เช่นนี้อย่างน้อยไปจนถึงกลางปี พ.ศ.2564 แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งช่วงนั้นราคายางจะเริ่มตกลงตามลำดับ เนื่องจากความต้องการถุงมือยางได้ลดน้อยลง

จากผลการศึกษา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นประชาชนภาคใต้ เดือนตุลาคม ดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน รายได้จากการทำงาน และความสุขในการดำเนินชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรชาวสวนยาง เนื่องจากราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่รายจ่ายด้านการท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากช่วงเดือนตุลาคมนี้มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ในวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันปิยมหาราช ทำให้ประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งได้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศโดยใช้สิทธิ์จากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน นอกจากนี้รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนที่ได้รับสิทธิ์จากโครงการ “คนละครึ่ง” และเริ่มจับจ่ายใช้สอยกันตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งมียอดใช้จ่ายสินค้าอุปโภค – บริโภคแล้วกว่าพันล้านบาท

ในขณะที่ ภาระหนี้สินที่สูงขึ้นเกิดจากผลพวงในช่วงล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการต่าง ๆ ต้องหยุดกิจการทำให้เกิดมีหนี้สินในช่วงดังกล่าว และในปัจจุบันกิจการที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้มีรายได้ลดลงเป็นอย่างมาก จึงมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ภาระหนี้สินเพิ่มพูนสูงขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ปรับตัวลดลง อาจเป็นเพราะความกังวลกับสถานการณ์การเมือง การชุมนุมของคณะราษฏรและกลุ่มนักศึกษาที่เรียกร้อง 3 ข้อ ซึ่งทำให้ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยได้ออกมาเคลื่อนไหว ส่งผลต่อสังคมเริ่มมีความคิดต่างและเกิดการแบ่งแยกทางสังคม รวมถึงอาจจะเกิดการปะทะกันได้ หากเหตุการณ์บานปลายจนไม่สามารถควบคุมได้

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีการปรับตัวลดลงตลอดระยะเวลา 10 เดือน คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่ารัฐบาลพยายามออกโครงการต่าง ๆ มากมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก แต่กลับไม่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้เลย ถึงแม้โครงการต่าง ๆ ที่ออกมา เป็นโครงการที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะการดำเนินงานและการขับเคลื่อนโครงการยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ และไม่สามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ประกอบการและประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่มีสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตไม่สามารถเข้าร่วมโครงการและไม่ได้รับสิทธิ์ อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเข้าร่วมโครงการ จึงควรให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีรถเคลื่อนที่คอยให้บริการ และช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 พบว่า จุดเด่นมีข้อเดียว คือ การบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีมาก ส่วนจุดด้อย คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่มีการปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นตามที่ได้เคยกล่าวไว้ รัฐมนตรีในกระทรวงต่าง ๆ ไม่มีผลงานเด่นที่ชัดเจน การดำเนินงานของหน่วยงานราชการกลับไปสู่แบบเช้าชามเย็นยามเสมือนในอดีตก่อนปีพ.ศ.2540 ในขณะที่ราชการมีรายได้และสวัสดิการดีกว่าภาคเอกชนจำนวนมาก แต่การให้บริการกลับแย่ลง เป็นเพราะภาครัฐไม่มีระบบประเมินการให้บริการจากประชาชนผู้ใช้บริการเหมือนหน่วยงานเอกชน

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.80 และ 36.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 38.20 และ 35.40 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 28.20 , 34.10 และ 35.40 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 25.40 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และการเมือง คิดเป็นร้อยละ 22.80 และ 13.10 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดั