15 มิ.ย.วันไข้เลือดออกอาเซียน แนะหยุดอยู่บ้าน ยึดมาตรการ 3 เก็บ ยับยั้งโควิด พิชิตไข้เลือดออก


9 มิ.ย. 2564

สคร.12 สงขลา ร่วมรณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน 2564 แนะหยุดอยู่บ้าน ยึดมาตรการ 3 เก็บ ยับยั้งโควิด พิชิตไข้เลือดออก

วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวัน ASEAN Dengue Day หรือวันไข้เลือดออกอาเซียน ในปี 2564 (ASEAN Dengue Day 2021) ภายใต้ประเด็นรณรงค์ คือ “อาเซียนสานพลัง ยับยั้งโควิด พิชิตไข้เลือดออก” (ASEAN Unite Against Dengue Amidst the Pandemic) กอปรกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้หลายคนต้องหยุดอยู่กับบ้าน เพื่อหยุดการแพร่เชื้อโควิด 19 แนะยึดมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึง สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 (ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักระบาดวิทยา) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ว่า พบผู้ป่วย 130 ราย คิดเป็น 0.13 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ สงขลา 48 ราย รองลงมา นราธิวาส 33 ราย, ยะลา 18 ราย, ปัตตานี 17 ราย, พัทลุง 6 ราย, ตรัง 6 ราย และสตูล 2 ราย

สคร.12 สงขลา ขอแนะนำมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกและโรคโควิด 19 เมื่อต้องเก็บตัวอยู่บ้าน บ้านต้องไม่มียุงลาย ใช้เวลาว่างกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายง่าย ๆ ตามมาตรการ 3 เก็บ (เก็บให้ เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย) คือ 1. เก็บขยะ เศษภาชนะขังน้ำ ป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 2.เก็บกวาด บ้านให้สะอาดปลอดโปร่ง ป้องกันยุงลายเกาะพัก 3. เก็บน้ำดื่ม น้ำใช้ให้สะอาดมิดชิด ป้องกันได้ทั้งโรค ไข้เลือดออก โรคปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา


นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ณ โรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 จำนวน 21 แห่ง พบลูกน้ำยุงลายในอาคาร ร้อยละ 24, พบลูกน้ำยุงลายในภาชนะรอบ ๆ อาคาร ร้อยละ 8 ของภาชนะทั้งหมด ภาชนะที่พบได้แก่ ภาชนะที่ใส่น้ำใช้, ภาชนะที่ไม่ใช้แล้ว, อ่างบัว, ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว จากการสำรวจดังกล่าว ได้มีการควบคุม และทำลายภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย นอกจากนี้ ได้ดำเนินการการจัดการสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกอาคารไม่ให้เป็นแหล่งเพราะพันธุ์นำยุงลายและแมลงนำโรคอื่น ๆ ในโรงพยาบาลสนาม

ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคโควิด 19 จึงขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน โดยให้เลือกรับประทานยาแก้ไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการทานยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน แอสไพริน เพราะถ้าเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้ทำให้เกิดอาการเลือดออกมากขึ้น และเสี่ยงต่อการทำให้มีอาการหนักมากยิ่งขึ้น หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคหาสาเหตุและรับการรักษาต่อไป

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคโควิด 19 และ โรคไข้เลือดออก สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422