นมเย็นออนไลน์ (5) ​คุณหมอคะ...ป้าขอสงวนเต้าค่ะ


20 เม.ย. 2565

คุณหมอคะ...ป้าขอสงวนเต้าค่ะ

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดนั้น มีทั้งแบบตัดทั้งเต้าและสงวนเต้า เราจะมาฟังประสบการณ์ของป้ากัลยา โรจนวานิชกิจ และพี่นวลพรรณ เฝือชาติ อดีตผู้ป่วยมะเร็งทั้งสองท่าน ที่หนึ่งในนั้นยืนยันว่า อย่างไรเสียก็ขอสงวนเต้า

เริ่มกันที่ป้ากัลยา คุณป้าวัยเก๋า แต่หัวใจไม่เก่า ปีนี้คุณป้าอายุ 72 ปีแล้ว ตอนที่ตรวจเจอมะเร็งและต้องผ่าตัด คุณป้าอายุ 60 ปี คุณป้าเล่าด้วยท่าทีสบาย ๆ ว่าคุณหมอได้ถามก่อนเช่นกันว่าจะผ่าตัดแบบตัดทั้งเต้าหรือสงวนเต้า ซึ่งป้ากัลยาเลือกที่จะสงวนเต้า และรับการรักษาอื่น ๆ ตามมานั่นคือ การให้เคมีบำบัด และฉายแสง

เมื่อย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีกนิด ป้ากัลยาคลำเจอก้อนเนื้อด้วยตัวเอง ขนาดเท่าหัวแม่โป้งในขณะอาบน้ำ ก็คิดสงสัยในใจว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ แต่ความที่ไม่ค่อยรู้ในรายละเอียด ประกอบกับไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้ก็ยังไม่อยากไปรักษา จนกระทั่งลูกนัดให้มาพบหมอที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กระบวนการตรวจรักษาจึงได้เริ่มขึ้น

เมื่อถามว่า ทำไมถึงไม่ได้มารักษาที่โรงพยาบาลในตอนแรก ป้ากัลยาตอบว่า “มั่นใจว่าไม่เป็นอะไรมาก” แม้จะมั่นใจเช่นกันว่าเป็นมะเร็ง แต่ก็ไม่ได้กลัว และเชื่อมั่นว่าจะช่วยตัวเองได้ผ่านวิธีการนวด จนรู้สึกว่าก้อนที่เคยคลำเจอมีขนาดเล็กลง เมื่อได้มาพบหมอ และหมอแนะนำให้ผ่าตัดออก คุณป้าก็เชื่อฟังหมอ แต่ถึงอย่างไรก็เลือกที่ “สงวนเต้า” เพราะถ้าให้ตัดหมด “มันทำใจไม่ได้” คุณป้ากล่าวไว้

เรารู้สึกได้ว่าคุณป้าไม่ได้กลัวหรือกังวลกับการให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงตามที่คุณป้าบอกจริง ๆ แม้จะมีอาการเหนื่อย คอแห้ง ไม่อยากอาหารเหมือนผู้ป่วยรายอื่น ๆ หรือแม้แต่ตอนฉายแสง คุณป้าก็ทำแผลด้วยตัวเองคุณป้าพันธุ์แกร่งขอแนะนำลูกหลานว่า “หากเป็นก็ไม่ต้องกังวลมาก จะทำให้ใจเราไม่ดี หากไม่กล้ากินอาหาร จะทำให้มะเร็งบุกเรา” และยังบอกเคล็ดลับของตัวเองว่า “เวลาออกจากโรงพยาบาล มีงานเลี้ยงอะไรก็ไปกิน ใครเชิญก็ไปหมด แต่เรามีวิธีกินก็คือ กินน้อย ๆ ให้รู้ว่าเราได้กินแล้ว แค่นี้ อย่ากินเยอะ”

ปัจจุบันป้ากัลยาไม่ต้องทานยาใด ๆ มา 12 ปี แล้ว เพียงแค่มาหาหมอตามนัดปีละครั้ง

ส่วนพี่นวลพรรณ เป็นผู้ป่วยที่มีสถานการณ์ให้ต้องลุ้นกันสักหน่อย เนื่องจากก้อนที่ตรวจเจอมีขนาดประมาณ 1.3 เซนติเมตร และคุณหมอบอกว่า “ขอผ่าดูก่อน” หากสามารถคว้านออกได้หมด และก้อนมะเร็งไม่ลุกลามไปไหน ก็จะผ่าตัดแบบสงวนเต้าให้ หาไม่แล้วก็จะขอตัดทั้งเต้า กรณีของพี่นวลพรรณจึงไม่สามารถฟันธงก่อนหน้าการผ่าตัดได้ว่าจะผ่าด้วยวิธีใด ดังคำที่ว่า “ต้องดูหน้างานกันอีกที”

เป็นปกติที่คุณหมอจะให้ข้อมูลกับผู้ป่วย ถามความคิดเห็น ความสมัครใจ และให้คำแนะนำที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของผู้ป่วย การบอกกล่าวข้อมูลเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจ ร่วมคิดร่วมวางแผน และเตรียมใจถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์

“เรื่องการตัดเต้าเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับเรา เราเป็นคนเต้าใหญ่ การตัดเต้าหายไปเต้านึงมันทำให้เรารู้สึกว่า มันได้หรือ แล้วเราจะ balance ร่างกายเรายังไง มันจะหนักข้างเบาข้างมั้ย” นี่คือความในใจของพี่นวลพรรณ เสียงแห่งความกลัวที่ดังในหัวของเธอ “แต่พอถึงตอนนั้น เราก็ต้องฟังหมอ พอหมอว่าตัดแล้วจะทำให้สวยเหมือนเดิม เราก็ เออ ได้ หมอจะทำให้สวยเหมือนเดิม ก็จะโล่งใจไปนิด แต่คุณหมอบอกว่า ถ้าตัดทั้งเต้าเวลาดูกระจก เราอาจจะต้องเตรียมใจ”

วินาทีที่ฟื้นขึ้นมาแล้วพบว่า...

ตื่นแรกหลังการผ่าตัด พี่นวลพรรณไม่รู้หรอกว่าได้รับการผ่าตัดไปแบบใด เพราะแผลผ่าตัดโดนห่อหุ้มไว้อย่างแน่นหนา แต่เธอก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า น่าจะได้รับการผ่าแบบสงวนเต้า เพราะหากผ่าทั้งเต้าน่าจะต้องมีสายระบายน้ำเลือดน้ำหนองต่อจากแผลของเธอเป็นแน่แท้ ก็ทำใจได้แล้วว่า เราคงไม่เป็นอะไรมาก

พี่นวลพรรณเข้ารับการฉายแสงเช่นกัน แต่ขออนุญาตไม่รับเคมีบำบัดเนื่องจากกลัว ในเมื่อไม่มีใครยืนยันได้ 100% ว่า การรับยาเคมีบำบัดจะไม่ทำให้มะเร็งกลับมาอีก พี่นวลพรรณจึงตัดสินใจแน่วแน่ในทางที่เธอเลือก และปัจจุบัน กระบวนการรักษาของเธอเสร็จสิ้นมาครบ 5 ปี แล้ว และยังคงหาหมอตามนัดทุก 6 เดือน

แม้ปัจจุบันทั้ง 2 ท่านอยู่ในระยะปลอดโรคแล้ว แต่ความเข้าใจทั่วไปที่ไม่ถือว่าผิดคือ การรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีการผ่าตัดแบบสงวนเต้า มีความเสี่ยงที่จะมีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งได้อีกเช่นกัน เพราะยังคงหลงเหลือเต้าอยู่ หรือหากในระหว่างการผ่าตัด คว้านเอาเนื้อร้ายออกไปไม่หมด มะเร็งก็อาจไปโผล่ที่จุดอื่นได้อีกในภายหลัง กระนั้นก็ตาม การฟังคำแนะนำของคุณหมอเป็นสิ่งที่ผู้มีประสบการณ์ทั้ง 2 ท่านแนะนำ เพราะหมอจะรู้ดีว่า มีทางเลือกใดบ้างที่เหมาะสมกับระยะและชนิดของมะเร็งที่พบ รวมทั้งปัจจัยเฉพาะตัวของผู้ป่วยแต่ละราย และหากเรากลัวหรือปฏิเสธการรักษาบางอย่าง ก็ควรทำความเข้าใจความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดกับตัวเราด้วย


กัลยา โรจนวานิชกิจ : จิตอาสา ชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

นวลพรรณ เฝือชาติ : จิตอาสา ชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

บทความชุดความรู้จากประสบการณ์ของสมาชิกชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

โครงการพัฒนาสื่อสุขภาพด้านการดูแลตนเองจากประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กลุ่มอาสาสมัครศูนย์ถันยเวชช์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

สนับสนุน โดยสถานวิจัยการควบคุมโรคมะเร็งในประเทศไทย