​สคร.12 เตือน ปชช. ภาคใต้ตอนล่าง ระวังป่วยด้วยโรคเมลิออยโดสิส เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต


19 ม.ค. 2566

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ระวังป่วย ด้วยโรคเมลิออยโดสิส เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว แนะเลี่ยงสัมผัสดินและน้ำ เมื่อมีบาดแผล ไม่เดินเท้าเปล่า ใส่บูทยาวเมื่อต้องลุยน้ำ และดื่มน้ำจากแหล่งที่สะอาด หรือน้ำต้มสุก หากมีอาการไข้ร่วมกับประวัติสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่ป้องกัน ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา

กล่าวถึงสถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 2565 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) จำนวน 84 ราย พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยพบเพศชาย 57 ราย เพศหญิง 27 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 55 - 64 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป และกลุ่มอายุ 45 - 54 ปี ทั้งนี้ พบว่าจังหวัดพัทลุงมีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด เท่ากับ 2.97 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ จังหวัดสงขลา, ตรัง, ปัตตานี, นราธิวาส, สตูล และยะลา อัตราป่วยเท่ากับ 2.84, 2.28, 1.09, 0.83, 0.69 และ 0.42 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ และพบผู้ป่วยสูงสุดในอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 32.14 รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง ร้อยละ 26.19 และอาชีพงานบ้าน ร้อยละ 20.24 อีกทั้งมีรายงานผู้เสียชีวิต 17 ราย

โรคเมลิออยโดสิส สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ 1.ทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำหรือสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะ 2.หายใจเอาฝุ่นจากดินหรือน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป 3.ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ดังนั้น หากมีไข้สูง เป็นเวลานานเกิน 3 วัน หรือเกิดแผลฝีหนองตามร่างกาย ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง ทั้งนี้ พบผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในผู้ที่ประกอบอาชีพสัมผัสดินและน้ำโดยตรงเป็นเวลานาน เช่น เกษตรกร ทำนา ทำสวน และประมง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคติดสุรา, โรคไตเรื้อรัง หรือผู้มีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุให้มีภูมิคุ้มกันต่ำอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็ง ผู้ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรือผู้ที่รับประทานยาต้ม ยาหม้อ ยาชุด ยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์ปนเปื้อน มีความเสี่ยงต่อโรครุนแรงสูงขึ้

นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวว่า สคร.12 สงขลา ขอแนะนำวิธีการป้องกันโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่ 1.ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำ และรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่ 2.สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ทุกครั้งเมื่อทำงานหรือมีกิจกรรมที่สัมผัสดินหรือโคลน 3.หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดบาดแผล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท 4.รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุก 5.หลีกเลี่ยงการสัมผัสลม ฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422