[Health] ใส่ใจสุขภาพ ตอน มาบริจาคโลหิตกันเถอะ


18 ม.ค. 2559

ใส่ใจสุขภาพ [Health]

เรื่อง : สโรชา มียัง

มาบริจาคโลหิตกันเถอะ

“ความสุขไม่ได้เกิดจากการเป็นผู้รับ แต่เกิดจากการเป็นผู้ให้”

Ben Carson

เพราะเราอยากให้ทุกคนมีความสุข วันนี้เลยมาขอเชิญชวนให้ทุกคนมาเป็นผู้ให้ด้วยกัน กับการบริจาคโลหิต ให้ชีวิตค่ะ หลายคนคงได้มีโอกาสบริจาคโลหิตกันบ้างแล้ว แต่มีอีกหลายคน ที่คงกำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจว่า จะบริจาคดีไหม ถ้าจะบริจาคต้องทำอย่างไร บริจาคแล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีเรื่องราวที่น่าสนใจของการบริจาคโลหิตมาฝากค่ะ

01.jpg

คุณสุภาภรณ์ มานีวัน พยาบาลชำนาญการพิเศษหัวหน้างานห้องรับบริจาคโลหิต กล่าวถึงคุณสมบัติทั่วไปของผู้บริจาคโลหิตว่า ควรเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง อายุ ๑๗-๖๐ ปี น้ำหนัก ๔๕ กิโลกรัมขึ้นไป ไม่มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อ เช่น โรคตับอักเสบ มาเลเรียในระยะ ๓ ปี ที่ผ่านมา โรคที่โลหิตออกง่ายและหยุดยากผิดปกติ ไม่เป็นผู้ที่น้ำหนักลดมากโดยไม่ทราบสาเหตุ และเป็นผู้ที่ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ ถ้าเป็นสตรี งดเว้นผู้ที่ตั้งครรภ์ คลอดบุตร หรือแท้งบุตรในเวลา ๖เดือน หรืออยู่ในช่วงมีประจำเดือน นอกจากนั้นก็จะดูในส่วนของการรับประทานอาหาร การนอนหลับ ซึ่งก่อนจะมาบริจาคโลหิต ก็จะต้องเตรียมความพร้อมโดยการรับประทานอาหารมื้อหลักก่อน บางคนอาจมีความเข้าใจผิดว่าควรงดน้ำและอาหาร แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องรับประทาน แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงนอนพักผ่อนให้พอเพียง อย่างน้อยให้ได้ ๖ ชั่วโมง แล้วก็ไม่ควรนอนเวลาผิดปกติจากที่เคยนอน บางคนอาจจะนอนสี่ทุ่ม แต่วันนั้นนอนดึก อาจจะนอนเที่ยงคืน ก็ไม่ควรมา เพราะจะมีอาการเพลีย รวมถึงควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย ๒๔ ชั่วโมง ส่วนการรับประทานยา เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบสาเหตุของการรับประทานยาและพิจารณาเป็นกรณีไปเพราะยาแต่ละตัวจะเลื่อนการบริจาคไม่เหมือนกัน

เมื่อมาบริจาค เราจะให้ผู้บริจาคคัดกรองตัวเองเบื้องต้นก่อน โดยให้จะถามเรื่องสุขภาพโดยรวมและถามถึงพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการถ่ายทอดเชื้อไปสู่คนไข้ อย่างเช่น มีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยง เป็นต้น ถ้าผู้บริจาครายใดเห็นว่าตนเองมีความเสี่ยง ก็ควรงดหรือเลื่อนการบริจาคโลหิต เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้ป่วย” คุณสุภาภรณ์กล่าว

ผศ.พญ.ไปรยา รุจิโรจน์จินดากุล หัวหน้าหน่วยคลังเลือด ได้กล่าวเสริมว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมในการบริจาคโลหิต คือ ทุก ๓ เดือน และการบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว ว่าจะบริจาคได้ถุงใหญ่หรือถุงเล็ก เมื่อบริจาค เราจะได้โลหิตครบส่วน คือเป็นโลหิตทั้งหมด หลังจากนั้น เราก็จะมาปั่นแยกในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะได้เป็นส่วนประกอบของโลหิตต่างๆ ทั้งเกล็ดโลหิต เม็ดโลหิตแดง แล้วก็น้ำโลหิต

"น้ำโลหิตซึ่งมีส่วนประกอบของโปรตีนและปัจจัยการแข็งตัวของโลหิต จะนำไปใช้ในผู้ป่วยหลายประเภทเช่น ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ที่ไม่สามารถสร้างปัจจัยการแข็งตัวของโลหิตได้ หรือผู้ป่วยที่เสียโลหิตปริมาณมากนอกจากเสียโลหิตแดง เกล็ดโลหิตแล้ว ยังเสียน้ำโลหิตไปด้วย จึงต้องให้ทดแทน หรือในผู้ป่วยที่เป็นโรคเฉพาะบางอย่าง ก็จำเป็นต้องใช้น้ำโลหิตปริมาณมากในการเปลี่ยนถ่ายโลหิต บางครั้งอาจต้องใช้จากผู้บริจาค ๖-๑๐ คนต่อครั้ง” ผศ.พญ.ไปรยากล่าว

การบริจาคโลหิตมีหลายประเภท ได้แก่ การบริจาคทั่วไปโดยไม่ระบุ การบริจาคโดยระบุชื่อผู้ป่วย และการบริจาคให้ตนเองสำหรับใช้ในการผ่าตัด การบริจาคโดยระบุชื่อผู้ป่วยเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยที่สามารถจะเลือกผู้บริจาคที่ตัวเองเชิญชวนมาเพื่อบริจาคโลหิตให้ตัวเอง เราก็มีช่องทางนี้ให้

คุณสุภาภรณ์ กล่าวว่า “การที่จะมาบริจาคโลหิตให้ผู้ป่วยแบบระบุชื่อ ต้องมาก่อนอย่างน้อย ๓ วันทำการ เพราะโลหิตนี้พอบริจาคต้องไปตรวจกรองเชื้อ ไปปั่นแยก ฉะนั้น ต้องใช้เวลาในการเตรียมล่วงหน้า และถ้าตรวจโลหิตเข้ากันไม่ได้ ก็ให้ผู้ป่วยไม่ได้ ต้องเลือกโลหิตจากในคลังที่เหมาะสมกว่าให้แทน ส่วนโลหิตนี้จะหมุนเวียนไปใช้กับผู้ป่วยอื่นที่เข้ากันได้ต่อไป”

ปัจจุบันนี้ มีความตื่นตัวเรื่องการบริจาคโลหิตกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันสำคัญหรือเทศกาลต่างๆ แต่เราก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนโลหิต โดยเฉพาะช่วงวันธรรมดาหรือช่วงปิดเทอม ปัญหาโลหิตไม่พอกลับเป็นปัญหาที่ต้องพบเจอโดยตลอด ทั้งที่มีความพยายามในการเตรียมรับมือปัญหานี้แล้ว

“บางครั้งเราก็เจอปัญหาโลหิตไม่พอ ซึ่งมีตัวแปรคือ ผู้ป่วยฉุกเฉิน เราก็ไม่ทราบหรอกว่า ผู้ป่วยคนไหนจะเข้ามาแล้วใช้โลหิตเยอะ บางรายอุบัติเหตุ มาคนเดียวแล้วใช้ ๓๐ ถุงเลยก็มี อุบัติเหตุหมู่มา ไม่ใช้โลหิตเลยก็มี เราก็ต้องวิเคราะห์สถานการณ์โลหิตวันต่อวัน อาทิตย์ต่ออาทิตย์ เดือนต่อเดือน ดูไปเรื่อยๆ มันบอกไม่ได้แน่นอนซะทีเดียว แต่ว่าถ้าเป็นช่วงไหนที่คนมาให้เยอะ อย่างเช่น เดือนสิงหาวันแม่ เดือนธันวาวันพ่อไม่ขาด จะล้น และทุกโรงพยาบาลจะเหมือนกัน ล้นหมด เพราะคนจะมาให้กันเยอะ แต่บางช่วง เช่น ช่วงปิดเทอม ปิดเทอมนี่คนสะดวกในการมารักษาพยาบาล มาผ่าตัด จึงต้องเตรียมโลหิตเยอะ ในขณะเดียวกันโรงเรียนต่างๆ ก็ปิด ฉะนั้น เราก็ต้องหาแหล่งอื่นที่ไม่ใช่โรงเรียน หรือสถานศึกษา จึงมักจะขาดโลหิตในช่วงนี้มากกว่าช่วงอื่น” คุณสุภาภรณ์กล่าว

02.jpg

ท่านที่สนใจ สามารถเข้ามาบริจาคโลหิตได้ที่หน่วยคลังเลือดฯ ชั้น ๒ ภาควิชาพยาธิวิทยา โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๘.๓๐ น.- ๑๖.๐๐ น.และวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๘.๓๐ น. – ๑๒.๐๐ น. และ ๑๓.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. (ปิดบริการ วันที่ ๓๑ ธันวาคม และ ๑ มกราคม ของทุกปี) เบอร์โทร ๐๗๔-๔๕๑๕๗๕

นอกจากนี้แล้ว ท่านยังสามารถบริจาคโลหิตตามสถานที่ที่ท่านสะดวก นอกเหนือจากหน่วยคลังเลือดฯ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่ลานโปรโมชัน ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ (ทุกวันพุธ ที่ 2 ของทุกเดือน), ศูนย์การค้าไดอาน่า (ทุก ๓ เดือน) รวมถึงโรงงาน CP บ้านพรุ บริษัทต่างๆ ร้านค้า โรงเรียนต่างๆ ซึ่งท่านสามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดการออกรับบริจาคนอกสถานที่ได้ที่ เวปไซต์กาชาดจังหวัดสงขลา http://www.redcross-sk.or.th/

คราวหน้าเรามาติดตามกันว่า ปัจจุบันนี้นอกจากการบริจาคโลหิตทั่วไปแล้ว ยังมีการบริจาคเกล็ดโลหิตกันอีกด้วย เกล็ดโลหิตที่ว่านี้คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกับการบริจาคโลหิตทั่วไปอย่างไรบ้าง อย่าลืมมาติดตามกันค่ะ

Tips พิเศษ ๖ ขั้นตอนในการบริจาคโลหิต

กรอกประวัติสุขภาพด้วยตัวเอง

คัดกรองประวัติสุขภาพโดยเจ้าหน้าที่ ตรวจวัดความดันโลหิต ชีพจร เจาะปลายนิ้วตรวจความเข้มข้นของโลหิต

ลงทะเบียนรับถุงบรรจุโลหิต

ดื่มน้ำก่อนเข้าห้องเจาะเก็บโลหิต

เข้าห้องเจาะเก็บโลหิต

รับประทานอาหารว่างที่เตรียมไว้