ทำความรู้จัก “ยุงลาย” ต้นเหตุโรคร้าย ที่คุณอาจไม่เคยรู้


13 ก.พ. 2559

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมากำชับให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ รณรงค์ให้ประชาชน ร่วมมือกันควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกัน 3 โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สะท้อนให้เห็นแล้วว่า เจ้ายุงลาย แมลงตัวเล็กๆ ที่บินวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเรานั้น นำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง โอกาสนี้ ดร.นายแพทย์สุวิช  ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ได้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยุงลายในมุมที่ใครหลายคนอาจไม่เคยทราบหรือคาดไม่ถึง มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อจะได้รู้เท่าทันและจัดการเจ้าวายร้ายตัวน้อยนี้ได้อย่างอยู่หมัด

dengee_psd.jpg

เริ่มกันที่สถานที่เพาะพันธ์ยุงลาย  ยุงลายจะวางไข่ในภาชนะที่มีขอบ มีผนัง เนื่องจากแม่ยุงลายเวลาวางไข่ต้องมีผนังไว้เดินไต่ และวางไข่เหนือผิวน้ำประมาณ 1 เซนติเมตร ยุงลายจึงไข่เหนือน้ำ ไม่ได้ไข่ในน้ำเหมือนยุงชนิดอื่น ห้วยหนองที่มีน้ำขังตามธรรมชาติจึงไม่ใช่แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ยุงลายจะวางไข่ในน้ำใส น้ำนิ่ง หากมีถังน้ำที่ไม่มีฝาปิด  ให้ใช้วิธีเปิดน้ำให้หยดติ๋งๆ ตลอดเวลา น้ำจะกระเพื่อม ทำให้ยุงลายไม่มาวางไข่ ส่วนลูกน้ำที่พบในน้ำเน่า ในคู ที่เรามักตักมาเลี้ยงปลากัดนั้น ส่วนใหญ่เป็นลูกน้ำยุงรำคาญ ไม่ใช่ลูกน้ำยุงลาย  แต่หากผู้เลี้ยงปลาไม่สบายใจ แนะนำให้เลี้ยงในภาชนะปากแคบแล้วเอาผ้ามุ้งปิดไว้ ถ้าเห็นมียุงมาเกาะที่ผ้ามุ้ง ให้พลิกขวดแค่นี้ยุงก็ตายแล้ว

ยุงลายชอบวางไข่ในภาชนะที่มีสีมืดเข้มหรือที่มีรูพรุน  ผิวขรุขระ จึงควรเลือกภาชนะเก็บน้ำที่มีสีอ่อนๆ ในห้องน้ำควรใช้ถังพลาสติกเก็บน้ำแทนที่เก็บน้ำแบบซีเมนต์ หากระดับน้ำในภาชนะเหลือน้อย ส่วนใหญ่ไม่ถึงศอกและมีเงามืด ยุงลายจะชอบ สังเกตได้ว่าหากน้ำลึกเกิน 1 เมตรจะมียุงวางไข่น้อยมาก ยิ่งถ้าใส่น้ำให้เต็มปริ่มขอบก็จะไม่มียุงมาวางไข่เลย แม่ยุงลายเวลาไข่สุกจะหนักท้อง จึงชอบวางไข่ในที่ต่ำๆ มืดๆ หลักการควบคุมลูกน้ำยุงลายคือจะทำอย่างไรให้มีน้ำขังน้อยที่สุด  เช่น หากน้ำที่บ้านไหลสม่ำเสมอ ก็ไม่ต้องเก็บน้ำ  เก็บสิ่งของเหลือใช้ที่อยู่บริเวณบ้าน ก็จะไม่มีที่ให้น้ำขัง ลดภาชนะที่ไม่จำเป็นภายในบ้าน เช่น แจกันหรือที่ใส่น้ำเลี้ยงพลูด่าง จานรองกระถางต้นไม้ที่วางอยู่นอกบ้าน ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น

ว่าด้วยเรื่องลักษณะการหากินของยุงลาย  ยุงลายบินหากินไม่ไกล  ในเวลา 24 ชั่วโมง จะบินไปไม่เกิน 100 เมตร เนื่องจากยุงลายเป็นยุงที่อาศัยอยู่ในบ้าน มีเหยื่อให้ดูดเลือดอยู่แล้ว และยังมีที่ให้วางไข่ ที่ให้เกาะพักอีกด้วย จึงไม่จำเป็นจะต้องบินไปหากินไกลๆ ยุงลายชอบเกาะพักในที่มืด อับชื้น และมักจะกลัวแดดกลัวลม  จะไม่บินไปวางไข่หรือกัดคนกลางแจ้งเด็ดขาด ภาชนะที่วางกลางแดด กลางแจ้งจะไม่เป็นที่วางไข่ของยุงลาย การจัดบ้านให้สว่าง โล่ง โปร่ง ลมพัดดี ก็จะทำให้ยุงลายไม่มากัดคนในบ้าน
ปิดท้ายด้วยวงจรชีวิตของยุงลายที่ฟังแล้วจะต้องทึ่ง ไข่ยุงลายที่แห้งอยู่นานเป็นปี เมื่อนำมาแช่น้ำเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก็จะฟักตัวเป็นลูกน้ำทันที จากลูกน้ำกลายเป็นตัวโม่ง จากตัวโม่งกลายเป็นยุง ใช้เวลาประมาณ 7 วัน จึงต้องกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 7 วัน ก่อนที่ลูกน้ำจะกลายเป็นยุง ยุงลายตัวผู้มีอายุประมาณ 7 วัน เกิดมาเพื่อผสมพันธุ์เท่านั้น ส่วนตัวเมียมีอายุประมาณ 45 วัน วางไข่ทุก 3-4 วัน ซึ่งก่อนวางไข่จะต้องดูดเลือดก่อน ยุงลายวางไข่ครั้งละประมาณ 80 -100 ฟอง ดังนั้นตลอดอายุขัยของยุงลายตัวเมียจะวางไข่ได้ประมาณ 1,000 กว่าฟอง การกำจัดยุงลายตอนเป็นลูกน้ำ จึงดีที่สุดและง่ายที่สุด คุ้มค่ากว่าการใช้สารเคมีพ่นตัวยุง ที่ทำได้ยากกว่ามาก เพราะเมื่อยุงได้กลิ่นก็จะบินหนี ไม่อยู่ให้ถูกฆ่า ถูกกำจัด

แม้ยุงลายจะดูเก่งกว่ายุงชนิดอื่นๆ แต่เชื่อว่าไม่มีทางที่จะชนะมนุษย์อย่างเราๆ ไปได้  ถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมมือกวาดล้างยุงลายกันอย่างจริงจัง สำคัญที่สุดคือการเริ่มกำจัดตั้งแต่ยังเป็นลูกน้ำ ยึดหลัก ไม่มีน้ำ ไม่มีลูกน้ำ ไม่มีลูกน้ำ ไม่มียุง ไม่มียุง ไม่มีโรค มาร่วมกันประกาศสงครามกับเจ้ายุงลาย ก่อนที่แมลงตัวร้ายชนิดนี้จะมาทำร้ายคุณและคนที่คุณรัก

รายงานพิเศษโดย  พรรณภัทร ประทุมศรี
นักวิชาการเผยแพร่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา

1.jpg