ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านสภาวการณ์ทางสังคม เดือนกุมภาพันธ์ 2561


3 มี.ค. 2561

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านสภาวการณ์ทางสังคม เดือนกุมภาพันธ์ 2561

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านสภาวการณ์ทางสังคมในเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงของความสุขโดยรวมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 58.20 เพศชาย ร้อยละ 41.80 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 34.70 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 32.40

010.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านสภาวการณ์ทางสังคม เดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ด้านภาวการณ์ทางสังคมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านสภาวการณ์ทางสังคม พบว่า ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ความมั่นคงในอาชีพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลที่ส่งเสริมและมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ มาตรการกระตุ้นราคาพืชผลการเกษตรให้ปรับตัวสูงขึ้น โครงการสวัสดิการประชารัฐคนรายได้น้อยที่ต่อเนื่องในเฟส 2 มีการเพิ่มวงเงินและฝึกอาชีพให้กับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ และส่วนหนึ่งมาจากเดือนนี้มีวันตรุษจีน ทำให้ประชาชนได้พบปะครอบครัว และญาติพี่น้อง อีกทั้งในวันตรุษจีนปีนี้ได้มีการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการปีแรกในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส  ประชาชนจึงมีเวลาพักผ่อนยาวต่อเนื่อง 3 วัน ตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ ทำให้มีเวลาเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ และตามต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหายาเสพติด เสถียรภาพทางการเมือง และการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเชื่อมั่นลดลง เนื่องจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดและโจมตีฐานที่มั่นทหาร จังหวัดปัตตานี และการคัดค้านของประชาชนในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน พื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาและจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีการร้องเรียนและประท้วงให้รัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้างดังกล่าว

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าความสุขในการดำเนินชีวิต และฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.60 และ 30.70 ตามลำดับ นอกจากนี้การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 34.90 และ 33.80 และปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อความสุขในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 37.30 รองลงมา คือ ราคาสินค้า คิดเป็นร้อยละ 21.40