ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนกุมภาพันธ์ 2561


3 มี.ค. 2561

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนกุมภาพันธ์ 2561

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจาก ประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 58.20 เพศชาย ร้อยละ 41.80 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 34.70 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 32.40

011.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม อีกทั้งพบว่า พัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนทุกตัวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงานโอกาสในการหางานทำ/ได้งานใหม่ รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า  รายจ่ายที่เกี่ยวข้องด้านอสังหาฯ และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว โดยปัจจัยบวกมาจากการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนของประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีน ที่เดินทางพักผ่อนและพบปะญาติพี่น้อง รวมทั้งปีนี้มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์เข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดชายแดนคึกคักมากที่สุดในรอบ 10  ปี ตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับค่าเงินริงกิตมาเลเซียที่ปรับตัวขึ้นสูงสุงในรอบ 5 เดือน (8.12 MYR = 10 THB)  ทำให้มีเงินสะพัดมากกว่า 200 ล้านบาท

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 38.70  และ 36.10 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 37.40 และ 42.70 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 32.30 รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน และราคาสินค้า คิดเป็นร้อยละ 27.10 และ 19.60 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน และราคาสินค้า ตามลำดับ